หนึ่งในคุณค่าที่สำคัญของวรรณกรรมหรือวรรณคดีก็คือ คุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดีส่วนมากนั้นเป็นวรรณกรรมที่แต่งขึ้นในอดีตกาล ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทรงคุณค่า โดยดูได้จากการรักษาสืบต่อถ่ายทอดลงมารุ่นสู่รุ่น มิได้เลือนหายไปตามกาลเวลา วรรณคดีเหล่านี้จึงเป็นเสมือนหนึ่งกระจกเงาส่องอดีต ที่ช่วยให้คนรุ่นหลังสามารถจินตนาการถึงวิถีชีวิตและสภาพสังคมของคนในอดีตได้เป็นอย่างดี
ความรู้และเรื่องราวมากมายในอดีตนั้น สามารถหาได้จากการอ่านวรรณคดี ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ตำนาน ประเพณี ความเชื่อ ภาษา และวัฒนธรรมต่างๆ วรรณคดีอย่าง “ขุนช้างขุนแผน” เป็นตัวอย่างที่ดีในการสะท้อนภาพสังคมความเป็นอยู่ในสมัยอยุธยา ผู้อ่านจะได้เห็นถึงความเชื่อ หรือความรู้ในเรื่องคาถาอาคมของผู้คนสมัยนั้น วัฒนธรรม ประเพณี และจารีตที่อาจหาดูได้ยากแล้วในสมัยปัจจุบัน เช่น การไว้จุก การโกนจุก การเคี้ยวหมาก รูปแบบอาคารบ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้ ความเชื่อและคติเกี่ยวกับชีวิตคู่และการครองเรือนที่ชายเป็นใหญ่ เป็นต้น
ไม่เพียงแต่ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยเท่านั้น ที่สามารถหาได้จากวรรณคดีไทย วรรณคดีแปลอย่าง “สามก๊ก” ก็ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีของจีนสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นได้เป็นอย่างดี หรือวรรณคดีชั้นเยี่ยมอย่าง “อิเหนา” ก็ให้ภาพประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชวาสมัยโบราณไว้อย่างยอดเยี่ยม
วรรณกรรมของไทยที่ให้คุณค่าทางสังคม และเป็นเสมือนบทบันทึกประวัติศาสตร์ไทยในยุครัตนโกสินทร์ชั้นเยี่ยมเรื่องหนึ่ง ก็คือเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว. ศึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นวรรณกรรมที่อ้างอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ลงมาจนกระทั่งสิ้นแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
ผู้เขียนบรรยายให้เห็นภาพถึงเรื่องราวของพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ประตูชั้นนอกจนถึงชั้นใน ตำหนักเจ้านาย ที่อยู่ของข้าหลวง จนกระทั่งถึงพระราชมณเฑียร รวมทั้งชีวิตของชาววังนับตั้งแต่พระบรมวงศ์ไปจนถึงคนสามัญ มีรายละเอียดด้านการแต่งกาย ความเป็นอยู่ ธรรมเนียม การศึกษาและการละเล่นของคนในยุคสมัยนั้นอย่างละเอียด ผู้อ่านจึงเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปในอดีตเมื่อได้อ่านสี่แผ่นดิน
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว