การวิเคราะห์และวิจารณ์วรรณคดีหรือวรรณกรรม คือการพิจารณาวรรณกรรมโดยแบ่งเป็นแต่ละหัวข้อ ตั้งแต่ รูปแบบการประพันธ์ การดำเนินเรื่อง เค้าโครงเรื่อง การผูก และการคลายปม การใช้สำนวนโวหาร การสื่ออารมณ์ ลีลา และสำนวนการประพันธ์ คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ ความรู้ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่อง คติ ข้อคิดที่แฝงไว้ เป็นต้น แล้วประเมินคุณค่าของวรรณกรรมนั้นๆ ว่ามีข้อเด่นในด้านใดบ้างหรือมีข้อด้อยด้านใด
การวิเคราะห์ลักษณะเด่นของวรรณกรรม
วรรณกรรม คือ งานประพันธ์ทุกรูปแบบ ทั้งที่เป็นตัวหนังสือหรือวรรณกรรมลายลักษณ์ และที่เป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาโดยมิได้จดบันทึกหรือวรรณกรรมมุขปาฐะ ดังนี้แล้ว วรรณคดีจึงเป็นวรรณกรรมรูปแบบหนึ่งนั่นเอง โดยที่วรรณคดีคือวรรณกรรมที่ได้รับการยกย่องว่ามีคุณค่าทางวรรณศิลป์ หรือประพันธ์ได้ดี
การวิเคราะห์ลักษณะเด่นของวรรณคดีและวรรณกรรม มีดังนี้
1. วิเคราะห์รูปแบบคำประพันธ์ พิจารณาลักษณะคำประพันธ์ว่าเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง เป็นร้อยกรองประเภทใด
2. วิเคราะห์เนื้อหาว่ามีลักษณะอย่างไร กล่าวถึงเรื่องราวใดหรือสิ่งใด องค์ประกอบต่างๆ ของเรื่องมีการประสานกันอย่างกลมกลืนหรือไม่ ตรงตามข้อเท็จจริงหรือมีความสมจริงหรือไม่
3. วิเคราะห์ด้านวรรณศิลป์ การใช้สำนวนโวหาร พิจารณาถึงความไพเราะสละสลวย วรรณคดีและวรรณกรรมที่ดีจะต้องมีวรรณศิลป์ มีการใช้โวหารต่างๆ มีการเล่นเสียงคำสัมผัสนอกสัมผัสใน มีการเล่นคำในรูปแบบต่างๆ หรือมีการเล่นกลอักษร
4. วิเคราะห์การใช้ภาษาสื่ออารมณ์ วรรณคดีและวรรณกรรมที่สื่ออารมณ์ได้ดี จะทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์สุขหรือเศร้าร่วมไปกับตัวละครอย่างลึกซึ้ง
5. วิเคราะห์คุณค่าทางสังคม วรรณคดีและวรรณกรรมที่ดีจะสะท้อนภาพของสังคม อาจเป็นเหตุการณ์จริงในอดีตจากพงศาวดาร ประวัติศาสตร์ หรืออาจเป็นภาพสังคมที่สมมติขึ้นมาเพื่อสะท้อนสังคมจริงๆ ให้เห็นวิถีชีวิต ค่านิยม ของผู้คนในยุคสมัยต่างๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว