หลักการสร้างคำในภาษาไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 441.7K views



ภาษาเหมือนต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขางอกงามออกไป การแตกกิ่งก้านของต้นไม้ก็เหมือนกับการเพิ่มคำศัพท์ใหม่ของภาษา นับวันเราจะมีคำใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น เพราะมีคนใช้ภาษามากขึ้น เรื่องราวมากขึ้น คนก็สร้างคำมารองรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ คำใหม่ที่มีความหมายใหม่จึงเกิดขึ้นใหม่เสมอๆ ซึ่งแต่ละภาษาก็จะมีวิธีการสร้างคำที่แตกต่างกันออกไป สำหรับภาษาไทย การสร้างคำใหม่จะเป็นไปตามหลักการสร้างคำ การนำ “คำมูล” มารวมกันในรูปแบบต่างๆ ก็จะทำให้เกิด “คำประสม” “คำซ้อน” “คำซ้ำ” การผสมคำบาลีหรือสันสกฤตก็จะเกิดคำใหม่ที่เป็น “คำสมาส” หรือ “คำสนธิ” เป็นต้น

ภาพ : shutterstock.com

การสร้างคำ

คำ คือ พยางค์ที่มีความหมาย เริ่มต้นที่คำ 1 พยางค์ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา

พยางค์เปิด คือ คำที่ไม่มีตัวสะกด มี 3 ส่วน คือ พยัญชนะต้น สระ และวรรณยุกต์

พยางค์ปิด คือ คำที่มีตัวสะกด มี 4 ส่วน คือ พยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และตัวสะกด

ตัวการันต์ คือพยางค์ที่ไม่ออกเสียงจะนับเป็นส่วนประสมพิเศษในพยางค์นั้น

 

ตัวอย่างพยางค์ที่มีส่วนประกอบเสียงแบบต่างๆ

ส่วนประสม 3 ส่วน (พยัญชนะต้น + สระ + วรรณยุกต์) เช่น งู ม้า ลา ไก่

ส่วนประสม 4 ส่วน (พยัญชนะต้น + สระ + วรรณยุกต์ + ตัวสะกด) เช่น มด ยุง หุง ข้าว

ส่วนประสม 4 ส่วนพิเศษ (พยัญชนะต้น + สระ + วรรณยุกต์ + ตัวการันต์) เช่น เล่ห์ เสน่ห์

ส่วนประสม 5 ส่วน (พยัญชนะต้น + สระ + วรรณยุกต์ + ตัวสะกด + ตัวการันต์) เช่น จันทร์ เทศน์ ทุกข์

 

คำมูล

มูล มีความหมายว่า “โคน รากเหง้า” หรือ ส่วนล่างสุดของต้นไม้ที่อยู่ในดิน คำมูล จึงหมายถึง คำพื้นฐานที่มีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง เป็นคำที่จะนำไปใช้สร้างเป็นคำประสม คำซ้ำ และคำซ้อน ที่เราจะได้เรียนรู้กันต่อไป

คำมูล เป็นคำที่มีความหมายเดียว เช่น ทำ บ้าน พ่อ แม่ หรือหลายความหมายก็ได้ เช่น สาว พาย ชาย แก่ ปาน กา รา ดำ

คำมูลอาจมีพยางค์เดียว หรือหลายพยางค์ก็ได้ เช่น กระจอก สนุก สับปะรด บันได ลิเก นิโคติน เป็นต้น

หากคำมูลมีหลายพยางค์ เมื่อแยกพยางค์ออกแล้ว แต่ละพยางค์จะต้องไม่มีความหมาย หากมีพยางค์ใดพยางค์หนึ่งหรือทุกพยางค์มีความหมาย ความหมายนั้นจะต้องไม่เหมือนกับความหมายของคำมูลเดิม

 

ตัวอย่างการแยกคำมูลหลายพยางค์

ซะซร้าว แยกเป็น “ซะ” + “ซร้าว” ซึ่งแต่ละพยางค์ไม่มีความหมาย

กระต่าย แยกเป็น “กระ” มีความหมายว่า เต่าชนิดหนึ่ง หรือ จุดดำๆ ส่วน “ต่าย” ไม่มีความหมาย เมื่อรวมกันหมายถึง “กระต่าย” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน

สับปะรด แยกเป็น “สับ” แปลว่า ใช้ของมีคมฟันลงไป “ปะ” แปลว่า พบกัน หรือ ปิดทับส่วนที่ชำรุด “รด” แปลว่า เท ราด สาด ฉีด ของเหลวลงไป เมื่อรวมกันหมายถึงผลไม้ชนิดหนึ่ง

ตัวอย่างคำที่ไม่ใช่คำมูลเช่น “สู้รบ” เมื่อแยกพยางค์ออก ทั้งคำว่า “สู้” และ “รบ” มีความหมายไปในทางเดียวกับคำว่า “สู้รบ”

 

การสร้างคำในภาษาไทยจากคำมูล

มีอยู่ 3 แบบ คือ คำประสม คำซ้อน และคำซ้ำ

 

คำประสม

คำประสม คือ คำที่มาจากคำมูลตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป ที่มีความหมายต่างกันมารวมกัน แล้วมีความหมายใหม่ แต่ต้องมีความหมายใกล้เคียงกับคำมูลเดิมคำใดคำหนึ่งที่นำมาประสมกัน หรือมีความหมายไปในเชิงเปรียบเทียบ

เช่น “แม่ทัพ” คำว่า “แม่” หมายถึง “มารดา” ความหมายต่างจากคำว่า “ทัพ” ที่หมายถึง “กองกำลังทหาร” แต่เมื่อรวมกัน หมายถึง “ผู้ออกคำสั่ง หรือ หัวหน้าสูงสุดของกองทหาร” ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความหมายใหม่ มีความเกี่ยวข้องกับความหมายของคำมูลเดิม คือ เป็นเรื่องของการทหาร และหมายถึงตัวผู้มีอำนาจสูงสุด ผู้เป็นใหญ่ในกองทหาร ซึ่งเปรียบเหมือน “แม่” ที่เป็นใหญ่ในบ้าน (ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

ข้อสังเกตสำหรับการแยกคำประสม คือ หากความหมายของคำนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับความหมายของคำมูลที่ประสมกันเลย แสดงว่าคำนั้นเป็นคำมูลหลายพยางค์ ไม่ใช่คำประสม ตัวอย่างคำประสม เช่น แม่บ้าน พ่อครัว รถบรรทุก ปลาเสือ ละครลิง น้ำปลา ผงซักฟอก เป็นต้น

 

ชนิดของคำที่นำมาประสมจนเกิดคำใหม่

1. คำนามประสมกับคำนาม เช่น ผีเสื้อ ปลาเสือ น้ำปลา พ่อตา รถไฟ
2. คำนามประสมกับคำกริยา เช่น รถเข็น ปลากัด ข้าวผัด นักวิ่ง ไก่ชน
3. คำนามประสมกับคำวิเศษณ์ เช่น น้ำหวาน หัวหอม ใจดี ปากหวาน กล้วยหอม
4. คำนามประสมกับคำลักษณะนาม เช่น วงเดือน ดวงใจ เพื่อนฝูง วงแหวน ใบสั่ง
5. คำนามประสมกับคำสรรพนาม เช่น คุณพ่อ คุณแม่ คุณหลวง ท้าวเธอ
6. คำกริยาประสมกับคำกริยา เช่น กันชน ตีพิมพ์ เดินเล่น กินรวบ
7. คำกริยาประสมกับคำวิเศษณ์ เช่น ยิ้มแป้น เดินทน ผัดเผ็ด
8. คำวิเศษณ์ประสมกับคำวิเศษณ์ เช่น หวานเย็น เปรี้ยวหวาน ดำมืด คมกริบ ขาวปลอด

 

คำซ้อน

คำซ้อนเป็นการประสมกันของคำที่มีความหมายเหมือนกัน คล้ายกัน หรือ ตรงข้ามกันมารวมกันเป็นคำใหม่ เพื่อให้มีความหมายชัดเจน หนักแน่นมากขึ้น ให้รายละเอียดมากขึ้นในคำที่เกิดใหม่ เช่น เสียดสี เกียจคร้าน รุ่งเรือง มุ่งหมาย ผลัดเปลี่ยน

1. คำซ้อนมีลักษณะคล้ายคำประสม คือ คำซ้อนมาจากคำในภาษาใดก็ได้ เป็นคำชนิดใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น คำนาม สรรพนาม กริยา วิเศษณ์ 2 คำขึ้นไปมาประสมกัน โดยจะแตกต่างจากคำประสมตรงที่ คำซ้อนจะมาจากคำมูลที่มีความหมายคล้ายกันหรือเกี่ยวข้องในเรื่องเดียวกัน โดยเป็นไปในทางเดียวกัน หรือ ทางตรงกันข้ามก็ได้

คำซ้อนที่มาจากคำมูลที่มีความหมายคล้ายกัน เช่น ต่อสู้ ฆ่าฟัน ยากเข็ญ แพรวพราว แลกเปลี่ยน หลับไหล เรียบง่าย เกลียดชัง ช้านาน หย่าร้าง

คำซ้อนที่มาจากคำมูลที่มีความหมายตรงกันข้าม เช่น รบรา ตื้นลึก หนาบาง สูงต่ำ ดำขาว ชั่วดี ถี่ห่าง

 

เปรียบเทียบความแตกต่างกันให้เห็นดังตัวอย่าง

คำซ้อน

คำประสม

รากฐาน

ภูมิฐาน

เรือแพ

เรือรบ

บ้านเรือน

บ้านนอก

ลูกหลาน

ลูกค้า

รูปร่าง

รูปถ่าย

ปูปลา

ปูเค็ม

2. ความหมายของคำซ้อนจะอยู่ในคำมูลคำใดคำหนึ่งเพียงคำเดียว ส่วนคำประสมความหมายจะเป็นความหมายใหม่ต่างจากคำมูลเดิม

คำซ้อน

คำประสม

กีดกัน (ความหมายอยู่ที่คำว่า กัน)

กันสาด (ความหมายใหม่)

เขตแดน (ความหมายอยู่ที่คำว่า เขต หรือ แดน)

ดินแดน (ความหมายใหม่)

เนื้อตัว (ความหมายอยู่ที่คำว่า ตัว)

เล่นตัว (ความหมายใหม่)

ปากคอ (ความหมายอยู่ที่คำว่า ปาก)

ปากกา (ความหมายใหม่)

คำซ้ำ

คำซ้ำมีรูปแบบคล้ายกับคำซ้อน คือ เป็นคำที่เกิดจากคำมูลตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมาประสมกัน แต่คำมูลที่นำมาประสมกันนั้นต้องเป็นคำเดียวกัน จึงจะเกิดเป็นคำซ้ำ โดยคำที่เกิดขึ้นใหม่ จะมีความหมายคล้ายเดิม แต่เน้นน้ำหนักของความหมายให้หนักขึ้นหรือเบาลง หรืออาจเปลี่ยนความหมายเป็นอย่างอื่นก็ได้

ลักษณะของคำซ้ำ คือ

- เป็นคำประเภทใดก็ได้เช่น คำนาม สรรพนาม กริยา วิเศษณ์
- นำคำหนึ่งคำมาซ้ำกันสองครั้ง เช่น “ร้อนๆ” “หนาวๆ” “เด็กๆ” “เล่นๆ”
- น้ำคำซ้อนมาแยกเป็นคำซ้ำสองคำ เช่น “ลูบคลำ” เป็น “ลูบๆ คลำๆ” “ดีชั่ว” เป็น “ดีๆ ชั่วๆ” “เงินทอง” เป็น “เงินๆ ทองๆ”
- น้ำคำซ้ำมาประสมกัน เช่น “งูๆ ปลาๆ” “ไปๆ มาๆ” “ลมๆ แล้งๆ”

ความหมายของคำซ้ำอาจเปลี่ยนไปจากคำเดิมได้ เช่น

1. บอกความเป็นพหูพจน์  คำเดิมอาจจะเป็นคำเอกพจน์หรือพหูพน์ อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คำที่ซ้ำที่เกิดขึ้นใหม่จะเป็นพหูพจน์ได้อย่างเดียว เช่น

“ไปเที่ยวกับเพื่อน” (เอกพจน์หรือพหูพจน์ ได้ทั้ง 2 กรณี)
“ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ” (เป็นพหูพจน์ เพราะเพื่อนหลายคน)
“เด็กอยู่ในห้อง” (เอกพจน์หรือพหูพจน์ ได้ทั้ง 2 กรณี)
“เด็กๆ อยู่ในห้อง” (เป็นพหูพจน์ เพราะเด็กหลายคน)

2. บอกความเน้นหนักของคำ คำวิเศษณ์บางคำ เมื่อเป็นคำซ้ำจะมีความหมายเน้นหนักมากกว่าเดิมโดยมากเป็นภาษาพูด โดยออกเสียงคำแรกเป็นเสียงตรี เช่น

“สวยๆ” ออกเสียงเป็น “ซ้วยสวย”
“ดีๆ” ออกเสียงเป็น “ดี๊ดี”
“มากๆ” ออกเสียงเป็น “ม้ากมาก”
“ดำๆ” ออกเสียงเป็น “ด๊ำดำ”
“ใหญ่ๆ” ออกเสียงเป็น “ไย้ใหญ่”

3. บอกความไม่เน้นหนัก คำวิเศษณ์บางคำเมื่อเป็นคำซ้ำ ความหมายอาจคลายความหนักแน่นไปกว่าคำเดิม แตกต่างจากคำที่ให้ความหมายเน้นหนัก เพราะไม่เน้นเสียงคำแรกเป็นเสียงตรี

ส่วนมากคำเหล่านี้ใช้ในภาษาพูด มากกว่าภาษาเขียน

แดง : “ฉันชอบสีแดง” (แดงเลย) กับ “ฉันชอบสีแดงๆ” (ขอให้ออกแดงหน่อย)
ใกล้ : “ธนาคารอยู่ใกล้” (ใกล้จริง) กับ “ธนาคารอยู่ใกล้ๆ” (อยู่ไม่ไกล)
เย็น : “วันนี้อากาศเย็น” (เย็นจริง) กับ “วันนี้อากาศเย็นๆ” (ค่อนข้างเย็น)

4. บอกคำสั่ง คำวิเศษณ์ที่เป็นคำซ้ำ บางครั้งมีความหมายเป็นคำสั่ง ใช้ในภาษาพูด ถ้าผู้พูดออกเสียงหนักๆ ก็จะเป็นคำสั่งที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

“เงียบๆ” (สั่งให้งดใช้เสียง)
“เบาๆ” (สั่งให้ระวัง)
“ดังๆ” (สั่งให้พูดดังขึ้น)
“นิ่งๆ” (สั่งไม่ให้ขยับ)

5. เปลี่ยนความหมายใหม่ คำซ้ำบางคำ จะเปลี่ยนเป็นความหมายใหม่ไปเลย โดยไม่มีเค้าของคำคำเดิม เช่น

“กล้วยๆ” (ง่ายมาก)
“หมูๆ” (ง่ายมาก)
“ลวกๆ” (ขอไปที)
“งูๆ ปลาๆ” (รู้แค่ผิวเผิน)

 

คำสมาสและสนธิ

การสร้างคำในภาษาไทยของเรา นอกจากเรานำคำภาษาไทยของเราที่เป็นคำมูลมาสร้างเป็นคำประสม ทำให้เกิดคำในความหมายใหม่แล้ว ภาษาไทยของเรายังมีภาษาอื่นที่เรารับเข้ามาใช้ร่วมกับภาษาไทย เป็นภาษาต่างประเทศมากมาย อันเกิดจากการรับเอาเข้ามา ผ่าน ศาสนา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี การติดต่อค้าขาย การทูต การเมืองการปกครองและอีกมากมาย

ภาษาบาลีและสันสกฤต ก็เป็นภาษาที่เรารับเอาเข้ามาใช้ในภาษาไทยแต่โบราณ นักภาษาศาสตร์ของไทยเราก็นำคำในภาษาบาลีสันสกฤต มาสร้างคำใช้ใหม่ๆ มากมาย ในรูปแบบของคำสมาสและคำสนธิ

คำสมาส

คำสมาสเป็นวิธีสร้างคำในภาษาบาลีและสันสกฤต โดยนำคำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมาประกอบกันคล้ายคำประสม

หลักในการสังเกตคำสมาส

1. เป็นคำในภาษาบาลี-สันสกฤตเท่านั้น ถ้าอีกคำเป็นภาษาไทย ก็เป็นแค่คำประสม

ราช + ฤทธิ์ = ราชฤทธิ์
จักร + ราศี = จักรราศี
กิจ + วัตร = กิจวัตร
อุทก + ภัย = อุทกภัย

2. การอ่านคำสมาสจะมีเสียงสระกลางคำเสมอ แม้ว่าจะไม่มีรูปสระกำกับ ก็มีเสียงสระกลางคำ เช่น

เทวนคร อ่านว่า เท-วะ-นะ-คอน
จันทรคติ อ่านว่า จัน-ทะ-ระ-คะ-ติ
อิสรภาพ อ่านว่า อิด-สะ-หระ-พาบ
ทันตกรรม อ่านว่า ทัน-ตะ-กำ

3. การแปลความหมายจะต้องแปลจากข้างหลังมาข้างหน้า เพราะคำที่มีความหมายหลักอยู่คำหลัง คำข้างหน้าเป็นตัวขยาย

คำสมาส

คำขยาย

คำตั้ง

คำแปล

สังคมศาสตร์

สังคม

ศาสตร์

วิชาสังคม

ราชรถ

ราช

รถ

รถของพระราชา

รัฐสภา

รัฐ

สภา

สภาของรัฐ

เภสัชศาสตร์

เภสัช

ศาสตร์

วิชาแห่งยารักษาโรค

4. คำบาลี-สันสกฤตที่มีคำว่า “พระ” กลายเสียงมาจากคำบาลี-สันสกฤตว่า “วร” (วะ-ระ) เช่น พระกรรณ พระขรรค์ พระคฑา พระจันทร์ พระฉวี

5. คำสมาสต้องไม่ประวิสรรชนีย์ระหว่างคำ มีแต่เพียงเสียงสระเท่านั้น

อิสระ + ภาพ = อิสรภาพ
พละ +    ศึกษา = พลศึกษา
วีระ + ชน = วีรชน

คำสนธิ

การสนธิ คือ การเชื่อมคำที่มาจากบาลีและสันสกฤต โดยเชื่อมให้เสียงกลมกลืนกันตามหลักไวยากรณ์บาลีสันสกฤต เป็นการเชื่อมอักษรให้ต่อเนื่องกัน เพื่อตัดตัวอักษรให้น้อยลง ทำให้คำใหม่มีความสละสลวย นำไปใช้ประโยชน์ในการแต่งคำประพันธ์หรือตั้งชื่อต่างๆ

คำสนธิ เกิดจากการเชื่อมคำในภาษาบาลีและสันสกฤตเท่านั้น ถ้าคำที่นำมาเชื่อมกันไม่ใช่ภาษาบาลีสันสกฤต ไม่ถือว่าเป็นคำสนธิ เช่น

“กระยาหาร” มาจากคำว่า “กระยา + อาหาร” ไม่ใช่คำสนธิ เพราะ “กระยา” ไม่ใช่คำบาลีสันสกฤต และหากว่านำคำบาลีสันสกฤตมารวมกัน แต่ไม่ได้เชื่อมกัน คือไม่ได้เปลี่ยนรูปคำ ก็ไม่ถือว่าเป็นคำสนธิเช่นกัน ตัวอย่างเช่น

“ทัศนาจร” มาจาก ทัศนา + จร
“วิทยาศาสตร์” มาจาก วิทยา + ศาสตร์

รูปแบบคำสนธิที่ใช้ในภาษาไทย

1. สระสนธิ

การสนธิสระทำได้ 3 วิธี คือ

       - ตัดสระพยางค์ท้าย แล้วใช้สระพยางค์หน้าของคำหลังแทน เช่น

มหา สนธิกับ อรรณพ เป็น มหรรณพ
นร สนธิกับ อินทร์ เป็น นรินทร์
ปรมะ สนธิกับ อินทร์ เป็น ปรมินทร์

       - ตัดสระพยางค์ท้ายของคำหน้า แล้วใช้สระพยางค์หน้าของคำหลัง แต่เปลี่ยนรูป โดย

อะ เป็น อา / อิ เป็น เอ / อุ เป็น อู หรือ โอ ตัวอย่างเช่น

เทศ สนธิกับ อภิบาล เป็น เทศาภิบาล
ราช สนธิกับ อธิราช เป็น ราชาธิราช
ประชา สนธิกับ อธิปไตย เป็น ประชาธิปไตย
จุฬา สนธิกับ อลงกรณ์ เป็น จุฬาลงกรณ์
นร สนธิกับ อิศวร เป็น นเรศวร
ปรม สนธิกับ อินทร์ เป็น ปรเมนทร์
คช สนธิกับ อินทร์ เป็น คเชนทร์
ราช สนธิกับ อุปถัมภ์ เป็น ราชูปถัมภ์
สาธารณะ สนธิกับ อุปโภค เป็น สาธารณูปโภค
วิเทศ สนธิกับ อุบาย เป็น วิเทโศบาย
สุข สนธิกับ อุทัย เป็น สุโขทัย
นย สนธิกับ อุบาย เป็น นโยบาย

       - เปลี่ยนสระพยางค์ท้ายของคำหน้า อิ อี เป็น “ย” และ อุ อู เป็น “ว” แล้วใช้สระพยางค์หน้าของคำหลังแทน เช่น เปลี่ยน อิ อี เป็น ย หรือเปลี่ยน อุ อู เป็น ว

มติ สนธิกับ อธิบาย เป็น มัตยาธิบาย
รังสี สนธิกับ โอภาส เป็น รังสิโยภาส
สามัคคี สนธิกับ อาจารย์ เป็น สามัคยาจารย์
สินธุ สนธิกับ อานนท์ เป็น สินธวานนท์
ธนู สนธิกับ อาคม เป็น ธันวาคม

 

2 . พยัญชนะสนธิ

พยัญชนะสนธิในภาษาไทยมีน้อย คือเมื่อนำคำ 2 คำมาสนธิกัน ถ้าหากว่าพยัญชนะตัวสุดท้ายของคำหน้ากับพยัญชนะตัวหน้าของคำหลังเหมือนกัน ให้ตัดพยัญชนะที่เหมือนกันออกเสียหนึ่งตัว เช่น

เทพ สนธิกับ พนม เป็น เทพนม
นิวาส สนธิกับ สถาน เป็น นิวาสถาน

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว