บทร้อยกรองของไทย เป็นบทกวีที่มีความสละสลวยของสำนวนภาษา ความวิจิตรของการร้อยเรียงอักษร และความไพเราะของเสียงสัมผัส จำแนกได้เป็น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย โดยกาพย์และกลอนเป็นร้อยกรองที่ได้รับความนิยมแพร่หลายที่สุด เพราะฟังง่ายและประพันธ์ได้ไม่ยากเท่าใดนัก ส่วนโคลง ฉันท์ และร่ายนั้น มีฉันทลักษณ์ที่ซับซ้อนกว่า โคลงมีบังคับคำเอก คำโท ส่วนฉันท์ก็มีบังคับคำครุ คำลหุ ซึ่งต้องอาศัยทักษะการประพันธ์สูง ทั้งผู้อ่านหรือผู้ฟังก็ต้องมีความรู้พื้นฐานประกอบด้วย จึงจะเข้าถึงอรรถรสของร้อยกรองประดานี้
การแต่งโคลงสี่สุภาพ
โคลงสี่สุภาพ เป็นโคลงชนิดหนึ่งที่กวีนิยมแต่งมากที่สุด ด้วยเสน่ห์ของการบังคับวรรณยุกต์เอกโทที่ลงตัว ไพเราะสวยงาม คำว่า สุภาพ หมายถึงคำที่มิได้มีรูปวรรณยุกต์
โคลงสี่สุภาพ มีมาตั้งแต่สมัยต้นอยุธยาในมหาชาติคำหลวง โคลงนิราศหริภุญชัย โคลงมังทราตีเชียงใหม่ และลิลิตพระลอ โคลงนิราศพระบาท กาพย์ห่อโคลงพระราชนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร
สมัยธนบุรี ได้แก่ โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี และลิลิตเพชรมงกุฎ
สมัยรัตนโกสินทร์ วรรณกรรมที่ใช้โคลงสี่สุภาพที่เด่นๆ ได้แก่ ลิลิตตะเลงพ่าย โคลงนิราศนรินทร์ โคลงนิราศสุพรรณ โคลงโลกนิติ สามกรุง
ด้วยโคลงสี่สุภาพเป็นคำประพันธ์ที่กวีชอบแต่ง และผ่านการพัฒนามายาวนาน จึงมีฉันทลักษณ์ที่ลงตัว และเป็นแบบฉบับดังที่ยึดถือกันในปัจจุบัน
แผนผังโคลงสี่สุภาพ
ภาพประกอบเนื้อหา
ลักษณะบังคับของโคลงสี่สุภาพ
1. คณะ
โคลงสี่สุภาพ 1 บทมี 4 บาท โดย 1 บรรทัดคือ 1 บาท แต่ละบาทมี 2 วรรค โดยบาทที่ 1 บาทที่ 2 และบาทที่ 3 มีจำนวนคำเท่ากัน คือ วรรคหน้ามี 5 คำ ส่วนวรรคหลังมี 2 คำ ส่วนบาทที่ 4 วรรคหน้ามี 5 คำเช่นกัน แต่วรรคหลังจะมี 4 คำ รวมทั้งสิ้น 1 บทจะมี 30 คำ
2. คำสร้อย
คำสร้อย คือ คำที่แต่งท้ายบาทของโคลงตามข้อบังคับ เพื่อทำให้ได้ใจความครบถ้วน ถ้าโคลงบาทใดได้ความครบถ้วนแล้ว ก็ไม่ต้องเติมคำสร้อย
ตำแหน่งที่กำหนดให้เติมคำสร้อย คือ ท้ายบาทที่ 1 และท้ายบาทที่ 3
คำสร้อยต้องมีแห่งละ 2 คำเสมอ โดยคำแรกเป็นคำสุภาพที่ต้องการเสริมความให้สมบูรณ์ ส่วนคำหลังมักลงท้ายด้วยคำต่อไปนี้ “พ่อ แม่ พี่ รา แล เลย เอย นา นอ เนอ ฤๅ ฮา แฮ เฮย” และมีอีกคำหนึ่งที่พบในโคลงโบราณ คือคำว่า “บารนี” ซึ่งใช้คำสร้อยได้ครบพยางค์โดยไม่ต้องเติมคำอื่น
3. คำเอก คำโท และคำตาย
โคลงสี่สุภาพบังคับรูปวรรณยุกต์ เอก โท คือ บังคับรูปวรรณยุกต์เอก 7 ตำแหน่ง รูปวรรณยุกต์โท 4 ตำแหน่ง (ตามแผนผัง)
ในการแต่งโคลงสี่สุภาพ บางครั้งเมื่อไม่สามารถหาคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอก หรือรูปวรรณยุกต์โทมาใช้ในที่บังคับวรรณยุกต์ตามแผนผังได้ จำเป็นต้องใช้คำ “เอกโทษ” หรือคำ “โทโทษ” คือ นำคำที่ต้องการใช้ ไปเปลี่ยนให้เป็นรูปวรรณยุกต์เอกหรือโท แต่ถ้าไม่จำเป็นอย่างยิ่งแล้วก็ไม่ควรใช้ เพราะทำให้รูปคำเสีย และความหมายอาจเปลี่ยนไป เช่น ใช้คำว่า “ข้า” แทนคำว่า “ฆ่า” เป็นต้น และในอีกกรณีหนึ่งคือ คำเอกและคำโทที่อยู่ติดกัน บางครั้งอาจสลับที่กันก็ได้
ในโคลงสี่สุภาพนั้น มีการใช้เสียง “คำตาย” แทนวรรณยุกต์เอกได้ทุกแห่งที่บังคับรูปวรรณยุกต์เอก ไม่ว่าคำตายนั้นๆ จะมีเสียงวรรณยุกต์ใด อาจเป็นคำตายเสียงเอก เช่น บาด จิต หรือคำตายเสียงโท เช่น วาด ภาพ หรือคำตายเสียงตรี เช่น พบ รัก เป็นต้น
การแต่งร่าย
ร่าย เป็นชื่อของคำประพันธ์ ชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่กำหนดว่า จะต้องมีบท หรือบาท เท่านั้น เท่านี้ จะแต่งให้ยาวเท่าไรก็ได้ เป็นแต่ต้อง “เรียงคำ” ให้คล้องจองกัน ตามข้อบังคับเท่านั้น ลักษณะบังคับต่างๆ ใช้อย่างเดียวกับ โคลง 2 และโคลง 3 (คำว่า "ร่าย" แปลว่า อ่าน เสก หรือ เดิน)
แผนผังร่าย
ภาพประกอบเนื้อหา
1. บทหนึ่งๆ มีตั้งแต่ 5 วรรคขึ้นไป จัดเป็นวรรคละ 5 คำ หรือจะเกิน 5 คำบ้างก็ได้ แต่ไม่ควรเกิน 5 จังหวะในการอ่าน จะแต่งยาวกี่วรรคก็ได้ แต่ตอนจบจะต้องเป็นโคลงสองสุภาพเสมอ
2. สัมผัส บังคับสัมผัสโดยคำสุดท้ายของวรรคหน้า ต้องสัมผัสกับคำที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 ของวรรคถัดไปทุกวรรค นอกจากตอนจบจะต้องให้สัมผัสแบบโคลงสองสุภาพ
3. เอกโท มีบังคับเอก 3 แห่ง และโท 3 แห่ง ตามแบบของโคลงสองสุภาพ
4. ถ้าคำสัมผัสที่ส่งเป็นคำเป็นหรือคำตาย คำที่รับสัมผัสจะต้องเป็นคำเป็นหรือคำตายเหมือนกันด้วย และคำสุดท้ายของบท ห้ามใช้คำตาย
5. เติมสร้อยในตอนสุดท้ายของบทได้อีก 2 คำ หรือจะเติมทุกๆ วรรคของบทก็ได้พอถึงโคลงสองต้องงด เว้นไว้แต่สร้อยของโคลงสองเอง สร้อยชนิดนี้ต้องเหมือนกันทุกวรรค เรียกชื่อว่า "สร้อยสลับวรรค"
การแต่งอินทรวิเชียรฉันท์ 11
อินทรวิเชียร แปลว่า เพชรของพระอินทร์ หรือ สายฟ้าของพระอินทร์ อินทรวิเชียรฉันท์จึงหมายถึง ฉันท์ที่มีลีลาประดุจสายฟ้าของพระอินทร์ (พระอินทร์มีอาวุธเป็นสายฟ้า)
คณะและพยางค์
ภาพประกอบเนื้อหา
อินทรวิเชียรฉันท์ จำนวน 1 บท มี 2 บาท โดยที่ใน 1 บาท มี 2 วรรค ได้แก่ วรรคหน้าหรือวรรคต้นมี 5 คำ (พยางค์) ส่วนวรรคหลังหรือวรรคท้ายมี 6 คำ (พยางค์)
อินทรวิเชียรฉันท์ 1 บาท มีจำนวนคำ (พยางค์) 11 คำ (พยางค์) ดังนั้น จึงกำหนดเลข 11 ไว้ท้ายชื่อฉันท์ โดยยึดตามบาทของฉันท์
มีการบังคับสัมผัส (สัมผัสนอก) และ บังคับครุ-ลหุ (เสียงหนัก-เสียงเบา) โดยคำครุ สัญลักษณ์แทนด้วย “ไม้หันอากาศ” คำลหุ สัญลักษณ์แทนด้วย “สระอุ”
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว