ธรรมชาติของภาษาและพลังของภาษา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 600.7K views



ภาษาเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้สื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ภาษาเริ่มจากการเปล่งเสียง กลายมาเป็นภาษาพูด ต่อมามนุษย์จึงรู้จักขีดเขียนอักขระขึ้นเป็นคำเพื่อแทนเสียงพูด จึงเกิดเป็นภาษาเขียนขึ้น ภาษามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ขึ้นอยู่กับการใช้งานของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนไป ในมิติหนึ่งมนุษย์เป็นผู้กำหนดและใช้งานภาษา แต่ในอีกมิติหนึ่งภาษาก็มีพลังหรืออิทธิพลต่อสังคมมนุษย์เช่นกัน การใช้งานภาษาทำให้ระบบความคิดของมนุษย์มีโครงสร้างอย่างที่เป็นอยู่ ภาษาทรงอิทธิพลต่อวิถีชีวิต ซึ่งได้พัฒนามาเป็นวัฒนธรรมและประเพณี

ภาพ : shutterstock.com

ธรรมชาติของภาษา

ภาษาคือการสื่อสารระหว่างสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าคนหรือสัตว์ เมื่อรวมกันเป็นกลุ่ม ย่อมมีการสื่อสารระหว่างกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ เช่นการเรียนการสอน เพื่อบ่งบอกความรู้สึก เช่นการโอบกอด เพื่อให้สัญญาณ เช่นการบินวนของฝูงผึ้ง

อาจอยู่ในรูปใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น วัจนภาษาหรืออวัจนภาษา (ภาษาที่ไม่ใช้ถ้อยคำ) อาจอยู่ในรูปของเสียงคือการพูด หรืออยู่ในรูปของถ้อยคำในการขีดเขียน ซึ่งมนุษย์น่าจะเป็นสัตว์ประเภทเดียวที่สามารถประดิษฐ์คำเพื่อแทนเสียงพูดได้

1. ภาษาใช้เสียงสื่อความหมาย

     1.1 เสียงสัมพันธ์กับความหมาย เลียนเสียงธรรมชาติ เดาความหมายได้ เช่น แมว ตุ๊กแก รถตุ๊กตุ๊ก
     1.2 เสียงไม่สัมพันธ์กับความหมาย คนกำหนดความหมายขึ้น เช่น บ้าน ลิง มด

2. ภาษาประกอบด้วยหน่วยเล็กซึ่งประกอบกันเป็นหน่วยใหญ่ขึ้น คือ เสียง --> คำ --> กลุ่มคำหรือประโยค --> เรื่องราว สามารถขยายได้เรื่อยๆ ไม่จำกัด

3. ภาษามีการเปลี่ยนแปลง

ภาษาเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการพูดในชีวิตประจำวัน (กลืนเสียง/กร่อนเสียง) อิทธิพลของภาษาอื่น (ยืมคำ/เลียนแบบสำนวนหรือประโยค) การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้น ส่งผลให้คำเก่าที่เคยใช้ถูกแทนที่ด้วยคำใหม่ และการเลียนภาษาของเด็ก

4. ภาษามีลักษณะเฉพาะที่ต่างและเหมือนกัน

     4.1 ลักษณะเฉพาะที่ต่างกันของแต่ละภาษา ได้แก่ เสียง ชนิดของคำ และไวยากรณ์
     4.2 ลักษณะเฉพาะที่เหมือนกันในแต่ละภาษา เช่น เสียงสื่อความหมาย มีวิธีสร้างคำหลากหลาย มีสำนวนสุภาษิต มีคำชนิดต่างๆ ขยายประโยคได้เรื่อยๆ มีวิธีแสดงความคิดคล้ายกัน และมีการเปลี่ยนแปลง

 

พลังของภาษา

การสื่อสารของมนุษย์สร้างและพัฒนาภาษาขึ้นมา และในทางกลับกัน ภาษาก็ได้ช่วยก่อร่างวิธีคิด วิธีเข้าใจโลกแก่มนุษย์ ก่อให้เกิดวิถีที่เรียกว่า “วัฒนธรรม” หรือ “อารยธรรม” ขึ้นมาในสังคมมนุษย์โลก รูปแบบที่แตกต่างกันของภาษาแต่ละภาษาในโลก ก่อเกิดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป อาจสรุปพลังหรืออิทธิพลของภาษาได้ดังนี้

1. ภาษาช่วยธำรงสังคม ภาษาใช้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้สังคมธำรงอยู่ได้
2. ภาษาแสดงความเป็นปัจเจกบุคคล การใช้สำนวนภาษาของแต่ละคนแสดงถึงลักษณะเฉพาะตน
3. ภาษาช่วยให้มนุษย์พัฒนา ภาษาถ่ายทอดความรู้และพัฒนาความคิด ให้เกิดสิ่งใหม่ๆ
4. ภาษาช่วยกำหนดเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
5. ภาษาช่วยจรรโลงใจ เช่น บทเพลง นิทาน นิยาย คำอวยพร

 

ลักษณะของภาษาไทย

ลักษณะที่ควรสังเกตบางประการในภาษาไทย และอักษรไทย คือ เครื่องหมายที่ใช้แทนเสียงในภาษาไทย ประกอบด้วย พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์

1. พยัญชนะ มี 44 รูป 21 เสียง หน้าที่ของพยัญชนะคือ เป็นพยัญชนะต้นและตัวสะกด พยัญชนะต้นมี 21 เสียง ดังนี้

 

เสียงพยัญชนะ

รูปพยัญชนะ

1

2

ข ฃ ค ฅ ฆ

3

4

5

ช ฌ ฉ

6

ซ ศ ษ ส

7

ด ฎ

8

ต ฏ

9

ฐ ฑ ฒ ถ ท ธ

10

น ณ

11

12

13

พ ภ ผ

14

ฟ ฝ

15

16

17

18

ล ฬ

19

20

ฮ ห

21

2. สระ มี 21 รูป 32 เสียง เสียงสระแบ่งได้ดังนี้

(ก) สระแท้ หรือเสียงแท้มี 24 เสียง

     - เป็นสระเดี่ยว 18 เสียง สระเดี่ยว เป็นเสียงสระที่เกิดจากกล่องเสียง ไม่ได้ไปประสมกับเสียงสระอื่นใด มี 18 เสียง คือ อะ อา อิ อี อึ อือ อุ อู เอะ เอ แอะ แอ โอะ โอ เอาะ ออ เออะ เออ

     - เป็นสระประสม 6 เสียง สระประสม เป็นเสียงที่เกิดจากการประสมของสระเดี่ยว 2 เสียง ประสมกันเป็นเสียงใหม่ เดิมมี 6 เสียง คือ เอียะ เอีย เอือะ เอือ อัวะ อัว

แต่ในปัจจุบันไม่นิยมนับสระประสมเสียงสั้น เพราะไม่มีการใช้งานจริง ทำให้บางตำรานับสระประสมเพียง 3 เสียง โดย

สระเอียะ มาจาก อี+อะ
สระเอีย มาจาก อี+อา
สระเอือะ มาจาก อือ+อะ
สระเอือ มาจาก อือ+อา
สระอัว มาจาก อู+อะ
สระอัว มาจาก อู+อา

เราลองแยกเสียงเองได้ ประสมเสียงเองได้ จากการออกเสียงสระ 2 เสียง คือ อี+อา ซ้ำๆ จากช้าไปเร็ว ก็จะได้เสียงสระเอียชัดเจน

(ข) สระเกิน 8 เสียง (ปัจจุบัน บางตำราไม่นับสระเกินเหล่านี้เป็นสระ แต่ถือเป็นพยางค์แทน ดังนั้น บ้างก็ว่าสระมี 24 เสียง บ้างก็ว่าสระมี 32 เสียง)

นอกจากสระแท้ 18 เสียง และสระประสม 6 เสียงแล้ว ยังมีสระอีกพวกที่ไม่เข้าพวกกับสระแท้และสระประสม เราเรียกว่า สระเกิน โดยสระเกินเกิดจากเสียงสระแท้ ประสมกับพยัญชนะตัวสะกด ออกมาเป็นเสียงสระ ได้แก่

สระอำ เกิดจากเสียง อะ+ม
สระไอไม้มลาย เกิดจากเสียง อะ+
สระใอไม้ม้วน เกิดจากเสียง อะ+ย เช่นกัน
สระเอา เกิดจากเสียง อะ+ว
ฤ เกิดจาก พยัญชนะ ร+สระอึ
ฤา เกิดจาก พยัญชนะ ร+สระอือ
ฦ เกิดจาก พยัญชนะ ล+สระอึ
ฦา เกิดจากพยัญชนะ ล+สระอือ

3. เสียงวรรณยุกต์ หรือเสียงดนตรี มี 5 เสียง

ภาษาไทยเป็นภาษาเสียงดนตรี เพราะเรามีวรรณยุกต์ใช้ เรามีวรรณยุกต์ 4 รูป แต่มี 5 เสียง ซึ่งใกล้เคียงกับระดับเสียงโน้ตดนตรี คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที ทั้ง 7 เสียง

การมีวรรณยุกต์ใช้ ทำให้เรามีคำเพิ่มได้มากมาย โดยไม่ต้องคิดคำศัพท์ที่ยาวเกินไป วรรณยุกต์ที่เปลี่ยนไปทำให้คำมีระดับเสียงเปลี่ยนไป ความหมายก็เปลี่ยนไปตามเสียงวรรณยุกต์ด้วย เช่น จอ จ่อ จ้อ จ๊อ จ๋อ

 

พยางค์และคำ

เสียงที่เราเปล่งออกมา 1 ครั้ง นับเป็น 1 พยางค์ ไม่ว่าเสียงนั้นจะมีความหมาย หรือไม่มีความหมาย ก็นับเป็น 1 พยางค์ เช่น ออกเสียงว่า “อุ” นั่นคือ 1 พยางค์ ถ้าออกเสียง “อุ อุ อุ” นั่นคือ 3 พยางค์ เป็นต้น

พยางค์ 1 พยางค์ ประกอบด้วยองค์ 3 คือ พยัญชนะต้น สระ และวรรณยุกต์ เช่น “อา” ประกอบด้วย พยัญชนะต้น อ + สระอา + เสียงวรรณยุกต์สามัญ

พยางค์เป็นส่วนประกอบย่อยของคำ คำบางคำประกอบด้วยพยางค์เดียว คำบางคำมีหลายพยางค์ เช่น

รัตนโกสินทร์ (รัด-ตะ-นะ-โก-สิน) มี 5 พยางค์
อุตุนิยมวิทยา (อุ-ตุ-นิ-ยม-วิด-ทะ-ยา) มี 7 พยางค์ เป็นต้น
 

“คำ” คือ “พยางค์” ที่มีความหมาย

1. ความหมายเฉพาะของคำ จำแนกได้เป็น 2 ชนิด

     - ความหมายตามตัว (ความหมายนัยตรง) คือความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรม ซึ่งผู้ใช้ภาษาเข้าใจตรงกัน
     - ความหมายเชิงอุปมา (ความหมายนัยประหวัด) คือความหมายที่ก่อให้เกิดความรู้สึกหรือการแปลความหมายต่างๆ กันไป

2. ความหมายเทียบเคียงคำอื่น อาจนำถ้อยคำมาเทียบเคียงกันได้ในแง่ต่างๆ ดังนี้

     - คำที่มีความหมายเหมือนกัน หรือ คำไวพจน์ เช่น “สุริยา-พระอาทิตย์-ทิพากร”
     - คำที่มีความหมายแคบกว้างต่างกัน หรือ คำที่มีความหมายครอบคลุมรวมความหมายของอีกคำหนึ่งไว้ เช่น “สัตว์ปีก” (ความหมายกว้าง) “ไก่” “เป็ด” “ห่าน” “นก” (ความหมายแคบ)
     - คำที่มีความหมายตรงกันข้าม เช่น “สูง-ต่ำ” “ดำ-ขาว” “ยาว-สั้น”
     - คำที่มีความหมายคล้ายกัน เช่น “ดี-เลิศ” “แนบ-ชิด”

 

การเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยปัจจุบัน

สาเหตุของความเปลี่ยนแปลง

1. การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

เมื่อโลกเปลี่ยนไป เกิดการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ก็จะต้องมีคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาใช้เรียกสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ เช่น โทรศัพท์ไร้สาย พืชตัดต่อพันธุกรรม

สิ่งที่เคยมีอยู่เดิม เมื่อเลิกใช้แล้ว ก็อาจทำให้คำที่ใช้เรียกสิ่งนั้นสูญไปจากภาษาด้วย การไม่ได้ใช้ทำให้คนรุ่นใหม่ก็อาจไม่รู้ความหมาย หรือเข้าใจความหมายผิดไปได้ ตัวอย่างคำที่เกิดขึ้นใหม่เพราะความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมมีอยู่มาก เช่น รถไฟ ไฟฟ้า ไฟฉาย ไม้ขีดไฟ ตู้เย็น พัดลม ที่เขี่ยบุหรี่ น้ำแข็ง เครื่องดื่ม เตารีด ตู้นิรภัย เตาอบ

บางคำสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าทางวิชาการ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), ความเป็นจริงเสมือน (VR), พันธุวิศวกรรม คำเหล่านี้มักเรียกกันว่า ศัพท์บัญญัติ โดยศัพท์บัญญัติบางคำนั้นเป็นคำประสม

2. ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางสังคม

สื่อมวลชน และกลุ่มวัยรุ่น มักสร้างคำหรือสำนวนใหม่ขึ้นมาใช้ เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่ ทำให้ภาษาของตนน่าสนใจ เช่น งานเข้า, ตัวแม่ คำที่สร้างขึ้นใช้เฉพาะพวกเฉพาะกลุ่มเพื่อให้เกิดความแปลกใหม่เช่นนี้ เรียกกันว่า “คำแสลง” คำแสลงส่วนใหญ่ใช้กันในช่วงเวลาสั้นๆ

การพูดจากันในชีวิตประจำวันก็อาจทำให้ถ้อยคำในภาษาเปลี่ยนไปได้ ถ้าผู้พูดไม่พยายามพูดให้ชัดเจน เสียงของคำก็อาจจะเปลี่ยนไป นานๆ เข้าคำที่เปลี่ยนไปก็ติดอยู่ในภาษา ส่วนคำเก่าที่ถูกต้องอาจจะค่อยๆ สูญไปหรือใช้ในความหมายที่ต่างออกไปแทน

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว