มารยาทในการฟัง การดู และการพูด
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 8.9K views



การมีมารยาทดี มารยาทงาม เป็นคุณสมบัติของอารยชน ทุกคนควรปลูกฝังให้เป็นนิสัย เพราะมารยาทเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม ในการฟังและการดูที่ไม่ใช่เป็นการส่วนตัว ต้องรักษามารยาทเพื่อเป็นการให้เกียรติผู้อื่น ทั้งผู้พูด ผู้แสดง ตลอดจนผู้ฟังหรือผู้ดูด้วยกัน

ภาพ : shutterstock.com

มารยาทในการฟังและการดู

1. ควรฟังโดยสำรวมกิริยามารยาท ฟังด้วยความสุภาพเรียบร้อย และตั้งใจฟัง
2. การฟังในที่ประชุม ควรเข้าไปนั่งก่อนผู้พูดเริ่มพูด โดยนั่งที่ด้านหน้าให้เต็มก่อนและควรตั้งใจฟังจนจบเรื่อง
3. จดบันทึกข้อความที่สนใจหรือข้อความที่สำคัญ หากมีข้อสงสัยเก็บไว้ถามเมื่อมีโอกาสและถามด้วยกิริยาสุภาพ เมื่อจะซักถามต้องเลือกโอกาสที่ผู้พูดเปิดโอกาสให้ถาม หรือยกมือขึ้นขออนุญาตหรือแสดงความประสงค์ในการซักถาม ถามด้วยถ้อยคำสุภาพ และไม่ถามนอกเรื่อง
4. มองสบตาผู้พูด ไม่มองออกนอกห้องหรือมองไปที่อื่น อันเป็นการแสดงว่าไม่สนใจเรื่องที่พูด และไม่เอาหนังสือไปอ่านขณะฟัง หรือนำอาหารและเครื่องดื่มเข้าไปรับประทานระหว่างฟัง
5. ฟังด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเองกับผู้พูด แสดงสีหน้าพอใจในการพูด ไม่แสดงกิริยาก้าวร้าว เบื่อหน่าย หรือลุกออกจากที่นั่งโดยไม่จำเป็นขณะฟัง
6. ฟังด้วยความสุขุม ไม่ควรก่อความรำคาญให้บุคคลอื่น ควรรักษามารยาทและสำรวมกิริยา ไม่หัวเราะเสียงดังหรือกระทืบเท้าแสดงความพอใจหรือเป่าปาก
7. ฟังด้วยความอดทนแม้จะมีความคิดเห็นขัดแย้งกับผู้พูดก็ควรมีใจกว้างรับฟังอย่างสงบ
8. ไม่พูดสอดแทรกขณะที่ฟัง ควรฟังเรื่องให้จบก่อนแล้วค่อยซักถามหรือแสดงความคิดเห็น
9. ควรให้เกียรติวิทยากรด้วยการปรบมือ เมื่อมีการแนะนำตัวผู้พูด ภายหลังการแนะนำ และเมื่อวิทยากรพูดจบ

 

มารยาทในการพูด

มารยาทในการพูดแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ มารยาทในการพูดระหว่างบุคคล และ มารยาทในการพูดในที่สาธารณะ

 

มารยาทในการพูดระหว่างบุคคล

1. เรื่องที่พูดควรเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่าย มีความสนใจและพอใจร่วมกัน หลีกเลี่ยงเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดแย้ง เช่น ความเชื่อของแต่ละศาสนา เรื่องการเมือง เป็นต้น
2. ไม่พูดเรื่องของตนเองมากจนเกินไป ควรพูดเรื่องของผู้สนทนาบ้าง เพราะจะเป็นการแสดงออกว่าเราสนใจในตัวเขา ควรฟังในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งพูด ไม่สอดแทรกเมื่อเขายังพูดไม่จบ
3. พูดให้ตรงประเด็น อาจออกนอกเรื่องบ้างพอให้ผ่อนคลายอารมณ์ หากการพูดคุยนั้นดูเคร่งเครียดเกินไป
4. เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่บังคับให้ผู้อื่นเชื่อหรือคิดเหมือนตน จะทำให้การสนทนากลายเป็นการสร้างความขัดแย้งกัน

 

มารยาทในการพูดในที่สาธารณะ

การพูดในที่สาธารณะต้องรักษามารยาทให้มากกว่าการพูดระหว่างบุคคล เพราะการพูดในที่สาธารณะนั้น ย่อมมีผู้ฟังซึ่งมาจากที่ต่างๆ กัน มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ พื้นฐานความรู้ ความสนใจและรสนิยมต่างกันไป ถ้ารู้ตัวว่าจะต้องพูด จะต้องเตรียมตัวให้ดีในเรื่องมารยาทในการพูดดังนี้

1. แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยเหมาะแก่โอกาสและสถานที่ สีสัน ลวดลาย ของเสื้อผ้าต้องเหมาะแก่กาลเทศะ
2. มาถึงสถานที่พูดให้ตรงเวลาหรือก่อนเวลาเล็กน้อย การมาช้าเป็นการแสดงออกให้ผู้อื่นคิดไปได้หลายแง่มุม เช่น ไม่รักษาเวลา ไม่เตรียมตัว ไม่ใส่ใจ เป็นต้น
3. ก่อนพูดควรแสดงความเคารพต่อผู้ฟังตามธรรมเนียมนิยม ถ้ามีสัญลักษณ์ของสถาบันหลักคือ ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ จะต้องทำความเคารพสถาบันก่อนเสมอ
4. ไม่แสดงกิริยาอาการอันไม่สมควรต่อหน้าที่ประชุม การใช้สีหน้าท่าทางและการมองผู้อื่นด้วยสายตาที่ไม่เหมาะสม เช่น มองด้วยหางตา มองจ้อง เป็นอาการที่ไม่สุภาพ
5. ใช้คำพูดที่ให้เกียรติแก่ผู้ฟังเสมอ ไม่ใช้คำพูดแสดงอาการล้อเลียนเหยียดหยาม คำพูดเพียงเล็กน้อยที่พูดออกไปอาจก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีแก่ผู้ฟังได้
6. ไม่พูดพาดพิงถึงเรื่องส่วนตัวของบุคคลอื่นในที่ประชุม
7. ไม่พูดหยาบโลนหรือตลกคะนอง
8. พูดให้ดังพอได้ยินทั่วกันและไม่พูดเกินเวลาที่กำหนด

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว