การพูดแสดงความคิดเห็นจากการฟังและดู
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 40.8K views



การสื่อสารนั้นมีสองทาง เราอาจเป็นผู้ส่งสาร เราอาจเป็นผู้รับสาร และเราอาจเป็นทั้งสองอย่างในการสื่อสารแบบสนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น หรือในการพูดแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่ได้รับฟังและดู ซึ่งต้องมีทักษะในการสรุปสาระสำคัญเป็นพื้นฐาน

ภาพ : shutterstock.com

การฟังและดูเรื่องราวใดๆ เราอาจไม่สามารถจดจำรายละเอียดทุกข้อความได้ทั้งหมด เราจึงต้องฝึกฟังและดูบ่อยๆ เพื่อให้สามารถจับประเด็นและโครงเรื่องหลักได้ แยกแยะได้ว่าอะไรเป็นสาระสำคัญและอะไรไม่ใช่ เมื่อเราตัดเนื้อหาที่ไม่สำคัญออก ก็จะสามารถสรุปแนวคิดจากเรื่องที่ได้ฟังและดูมาได้

เมื่อเราเข้าใจเรื่องราวที่ได้ฟังและดูมาแล้ว ก็อาจมีความคิดเห็นต่อเรื่องราวดังกล่าว และอยากแสดงความคิดเห็นนั้นต่อผู้อื่น เราจะแสดงความคิดเห็นนั้นผ่านการพูดอย่างมีเหตุผล

 

ประเภทของการพูดแสดงความคิดเห็นอาจแบ่งได้หลายประเภทตามโอกาสที่พูด หรือตามลักษณะเนื้อหาของการแสดงความคิดเห็น แต่ในที่นี้ได้แบ่งประเภทของการพูดแสดงความคิดเห็นตามลักษณะเนื้อหาออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. การพูดแสดงความคิดเห็นในเชิงสนับสนุน

เป็นการพูดเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งผู้พูดจะพิจารณาแล้วว่า ความคิดเห็นที่ตนสนับสนุนมีสาระและประโยชน์ต่อส่วนรวม

2. การพูดแสดงความคิดเห็นในเชิงขัดแย้ง

เป็นการพูดแสดงความคิดเห็นในกรณีที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกันกับผู้อื่น ผู้พูดควรระมัดระวังเรื่องการใช้ภาษาและการนำเสนอ ต้องมีเหตุผลสนับสนุนความคิดเห็นของตน ไม่ใช้อารมณ์ อันก่อให้เกิดความขัดแย้งเป็นการส่วนตัวหรือส่วนรวมได้

3. การพูดแสดงความคิดเห็นในเชิงวิจารณ์

เป็นการพูดเพื่อวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้วิจารณ์อาจจะแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ผู้วิจารณ์จะต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่อคติต่อผู้พูดหรือสิ่งที่เห็น เช่น การแสดงความคิดเห็นต่อละคร รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ เป็นต้น

4. การพูดแสดงความคิดเห็นเพื่อนำเสนอความคิดใหม่

เป็นการพูดนำเสนอความคิดเห็นใหม่ของตนที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น การแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม เป็นต้น

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว