การเขียนสารคดีและบันเทิงคดี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 162.9K views



การเขียนวรรณกรรมแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ “สารคดี” และ “บันเทิงคดี” โดยวรรณกรรมทั้งสองรูปแบบมีความแตกต่างกันดังนี้คือ งานเขียนที่เป็นสารคดีจะเน้นเนื้อหาสาระหรือการให้ความรู้มากกว่าความบันเทิง ในขณะที่ บันเทิงคดีจะเป็นงานเขียนที่เน้นให้ความบันเทิงมากกว่าสารคดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าบันเทิงคดีจะไม่มีสาระ งานเขียนบันเทิงคดีบางชิ้นอาจจะมีสาระน้อยมาก แต่ก็มีงานเขียนบันเทิงคดีไม่น้อยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเนื้อหาสาระไม่ด้อยไปกว่าสารคดีเลย

ภาพ : shutterstock.com

การเขียนสารคดี

สารคดีเป็นวรรณกรรมชนิดหนึ่ง ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง มีเค้าโครงจากเรื่องจริง ดังนั้น คุณค่าของสารคดีจึงเป็นงานที่สะท้อนความเป็นจริง ให้ทั้งสาระความรู้ และรสของวรรณกรรม มิใช่เป็นงานที่สร้างจากจินตนาการที่อาจอ่านเพื่อความรื่นรมย์เพียงประการเดียว

พื้นฐานแรกของการเขียนหนังสือที่ดี คือการเป็นนักอ่าน การอ่านเป็นพื้นฐานของการเขียน ทำให้เราได้รู้วิธีการเรียบเรียงความคิด ได้คลังคำศัพท์และได้ความรู้ในเรื่องต่างๆ อีกด้วย

เมื่อจะเริ่มต้นลงมือเขียนสารคดี ควรเลือกเรื่องที่เราสนใจ หรืออาจเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยหรือเรื่องใกล้ตัว เพราะจะทำให้เรามีแรงบันดาลใจหรือแรงขับดันในการเขียน ซึ่งมีผลให้เราทำงานด้วยความสนุก ผลงานก็จะออกมาดี หรือไม่เช่นนั้นก็อาจเลือกเรื่องใกล้ตัวที่เราพอคุ้นเคย ทำให้เราเริ่มต้นหาข้อมูลได้ไม่ยากจนเกินไป

การหาข้อมูลอาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือข้อมูลเอกสาร และ ข้อมูลบุคคล สำหรับการหาข้อมูลเอกสารนั้น เราควรค้นคว้าหาข้อมูลไว้ก่อน เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน เป็นการเตรียมความรู้และความพร้อม ทั้งยังช่วยกำหนดแนวทางในการหาข้อมูลภาคสนามด้วย

ข้อมูลเอกสารนั้นอาจพอค้นคว้าหาได้จากห้องสมุด จากหนังสือเก่า หนังสือพิมพ์เก่า หอจดหมายเหตุ เป็นต้น แต่การไปพบแหล่งข้อมูลบุคคลหรือการลงภาคสนามนั้น ต้องอาศัยความพยายามมากขึ้น

เมื่อได้ข้อมูลมาทั้งหมด ก็ถึงขั้นตอนการเรียบเรียงและการเขียน ก่อนลงมือเขียน ให้อ่านทบทวนข้อมูลที่ได้มาทั้งหมด เพื่อทำความเข้าใจแล้วย่อยข้อมูล แบ่งหมวดหมู่ หัวข้อ ว่าส่วนไหนควรอยู่กลุ่มไหน หากได้ข้อมูลมาจำนวนมาก ถ้าลงทั้งหมดก็จะกินเนื้อที่หน้ากระดาษมาก อาจจำเป็นต้องตัดข้อมูลบางส่วนทิ้งไปบ้าง โดยให้เลือกคงข้อมูลที่น่าสนใจกว่า หรือเป็นข้อมูลใหม่ไว้

 

เมื่อจะลงมือเขียน เราอาจแบ่งหัวข้อ หรือโครงเรื่องคร่าวๆ ได้ดังนี้

1. การเปิดเรื่อง คือการเปิดประเด็นเรื่องที่จะศึกษา ต้องเปิดเรื่องให้น่าสนใจ อาจชูประเด็นที่เป็นปัญหาบางอย่างที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้แต่อยากรู้ ทำให้ผู้อ่านต้องการติดตามอ่านต่อไป
2. เนื้อเรื่อง อาจแบ่งออกเป็นประเด็นหรือหัวข้อย่อยๆ หลายหัวข้อ เนื้อหาต้องเต็มไปด้วยสาระ ความรู้ ต้องเขียนให้น่าศึกษา น่าติดตาม
3. การปิดเรื่อง หรือการทิ้งท้ายบทจบของเรื่อง อาจมีได้หลากหลายรูปแบบ แต่ควรสรุปจบให้ตรงประเด็นกับที่เปิดหัวเรื่องไว้

อนึ่ง การเขียนสารคดีควรหลีกเลี่ยงการใช้พรรณาโวหาร หรือการใช้คำที่กระตุ้นเร้าอารมณ์อย่างในบันเทิงคดี ควรใช้ภาษาระดับทางการ สั้น กระชับ เรียบง่าย และเข้าใจได้ง่าย

 

การเขียนบันเทิงคดี

บันเทิงคดี หมายถึง เรื่องสมมติที่สร้างขึ้นมาอย่างมีจินตนาการและอารมณ์ มุ่งให้ความเพลิดเพลินเป็นใหญ่ แต่ก็ให้ความรู้ด้วย มีหลายรูปแบบ เช่น เรื่องสั้น นวนิยาย บทละคร ฯลฯ บันเทิงคดีเป็นงานเขียนที่ผู้เขียนมีเจตนานให้ผู้อ่านได้รับความเพลิดเพลินจากการอ่านโดยมีเกร็ดความรู้ ข้อคิด คติธรรม และประสบการณ์ชีวิตแทรกอยู่ในเรื่องนั้นๆ

การเขียนบันเทิงคดีนั้น ผู้เขียนจะต้องมีจินตนาการ มีความสามารถคิดเรื่องที่สนุกน่าสนใจ มีศิลปะในการใช้ภาษา มีประสบการณ์ มีความเข้าใจชีวิต มีความรู้รอบตัวในศาสตร์ต่างๆ อย่างดี จึงจะเขียนบันเทิงคดีได้น่าอ่านและมีสารประโยชน์

องค์ประกอบของบันเทิงคดีที่สำคัญมี 6 ประการ คือ สารัตถะของเรื่อง (Theme) โครงเรื่อง (Plot) ตัวละคร (Character) บทสนทนา (Dialogue) ฉาก (Setting) บรรยากาศ (Atmosphere)

1. สารัตถะของเรื่อง (Theme) หรือเรียกว่า "แก่นเรื่อง" หมายถึง ความคิดสำคัญของเรื่อง เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอแก่ผู้อ่าน
2. โครงเรื่อง (Plot) คือ เหตุการณ์ที่จัดเรียงลำดับและเป็นเหตุเป็นผลกัน เหตุการณ์หนึ่งเป็นผลให้เกิดเหตุการณ์หนึ่ง หรือหลายๆ เหตุการณ์สืบเนื่องตามมา โครงเรื่องที่น่าสนใจจะเกิดจากความขัดแย้งระหว่างแนวคิด ค่านิยม ความเชื่อหรือเหตุผลมากกว่า 2 กระแสขึ้นไป ทำให้ผู้อ่านอยากรู้ว่าปมปัญหานั้นจะลงเอยในลักษณะใด
3. ตัวละคร (Character) คือ ตัวบุคคล สัตว์หรือสิ่งต่างๆ ที่ผู้เขียนสร้างขึ้นให้มีบทบาท มีชีวิต มีจิตวิญญาณ แสดงพฤติกรรมต่างๆ เพื่อให้เหตุการณ์ดำเนินไป ตามเรื่องราวที่วางไว้
4. บทสนทนา (Dialogue) คือ คำพูดของตัวละครแต่ละตัว บทสนทนานับเป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่องบันเทิงคดีได้ประการหนึ่ง เพราะช่วยให้ผู้อ่านได้ทราบถึง แนวคิดของผู้แต่ง ทราบถึงบุคลิกลักษณะของตัวละคร ข้อขัดแย้งระหว่างตัวละคร ภูมิหลังและรายละเอียดต่างๆ ได้ โดยที่ผู้แต่งไม่ต้องบรรยายหรือพรรณนาความให้ยืดยาว นอกจากนี้ยังทำให้ผู้อ่านได้รับความเพลิดเพลินไปพร้อมกันด้วย
5. ฉาก (Setting) คือ การบรรยายภาพสถานที่ เวลา และสภาพแวดล้อมที่ปรากฏในเหตุการณ์ของเรื่อง เป็นการสร้างอารมณ์และจินตนาการให้กับผู้อ่าน ช่วยให้ผู้อ่านเพลิดเพลิน มีอารมณ์ร่วมกับตัวละคร และคาดเดาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องได้ การบรรยายฉากต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริง มีความถูกต้องสมจริง มีความแจ่มชัดเป็นระเบียบ ไม่สับสน ใช้ภาษาประณีตด้วยภาพพจน์และโวหารต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยทั่วไปมักนิยมใช้พรรณนาโวหารในการกล่าวถึงฉาก
6. บรรยากาศ (Atmosphere) คือ การบรรยายอารมณ์ความรู้สึก องค์ประกอบต่างๆ ของฉากและตัวละคร เพื่อสร้างอารมณ์ความรู้สึกแก่ผู้อ่าน

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว