การสังเคราะห์ความรู้จากสื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 27.8K views



โลกหมุนเร็วขึ้นทุกวันในด้านเทคโนโลยี การหาความรู้ในยุคเก่าโดยมากอาศัยการค้นตำราตามห้องสมุด ซึ่งตำราและหนังสือยังมีไม่มากเท่าในปัจจุบัน การผลิตงานเขียนให้ได้รับการยอมรับและเผยแพร่ในวงกว้างไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางวิทยาการทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายดาย การผลิตงานเขียนให้แพร่หลายในวงกว้างทำได้ไม่ยาก ทำให้การพัฒนาความรู้เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ในขณะเดียวกัน ความถูกต้องเที่ยงตรงของเนื้อหาส่วนหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกละเลยจนแทบไม่มีมาตรฐาน เราจึงต้องระมัดระวังให้มากขึ้นในการสังเคราะห์ความรู้จากสื่อสมัยใหม่เหล่านี้ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ภาพ : shutterstock.com

สื่อสิ่งพิมพ์

หมายถึง สื่อที่เป็นสิ่งพิมพ์ทุกชนิด ได้แก่ หนังสือพิมพ์ โฆษณา นิตยสาร วารสาร สารคดี นวนิยาย เรื่องสั้น มีกำหนดตีพิมพ์เผยแพร่รายวัน รายสัปดาห์ รายปักษ์ หรือตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ ไม่เย็บเล่ม และไม่มีปก เนื้อหาส่วนใหญ่ มุ่งเสนอข่าวสารต่างๆ ใช้ภาษาที่มีลักษณะเฉพาะ ใช้เสนอข่าวเพื่อให้สะดุดหู สะดุดตา สะดุดใจผู้อ่าน

 

สื่ออิเล็กทรอนิกส์

หมายถึง สื่อที่ติดต่อกันทางคอมพิวเตอร์ ภาษาที่ใช้ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ควรใช้ให้เหมาะกับกาลเทศะ และฐานะของบุคคล ถ้าจะใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับพิมพ์รายงานวิชาการ ภาษาที่ใช้ควรเป็นภาษาทางการ หรือภาษาเขียนเพียงอย่างเดียว ถ้าเป็นการแชทกับเพื่อนสนิทก็ใช้ภาษาพูดได้

ภาษาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มักพบคำที่สะกดผิด สะกดแบบมักง่าย คำผวน หรือคำแปลกๆ เนื่องจากผู้ส่งสารมีความเป็นอิสระในการเขียน จึงสามารถสะกดตามใจชอบ เช่น เด๋ว นู๋ น๊ะคะ พ้ม คิคิ งุงิ เพิ่ล หวัดดี เพ่ ข่ลเฬว ขุ่นแม่ เป็นต้น

โดยจะสังเกตเห็นว่า ภาษาในสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น มีความพยายามใช้ตัวสะกดตรงมาตรา หรือเขียนแบบคำอ่าน เช่น “เกษตร” เป็น “กะเสด” ทั้งนี้เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสาร

การใช้ภาษาดังกล่าว เป็นเพียงการใช้ภาษาภายในกลุ่มที่เน้นความสะดวกรวดเร็วในการส่ง และรับสารเท่านั้น ซึ่งเหมาะกับสื่อประเภทสื่ออิเล็กทรอนิกส์

 

การสังเคราะห์ความรู้จากสื่อต่างๆ

ทำได้โดยรวมรวมข้อมูลจากหลายๆ สื่อ แล้วนำมาเทียบเคียงกัน วิเคราะห์เป็นส่วนๆ เพื่อศึกษารายละเอียดแต่ละส่วนให้ถ่องแท้ เพื่อให้ระบุได้ว่าข้อความใดเป็นข้อเท็จจริง ข้อความใดเป็นข้อคิดเห็น แล้วตัดส่วนที่เป็นความคิดเห็นออกไป เหลือเพียงข้อเท็จจริง จากนั้นจึงตรวจสอบความถูกต้องของข้อเท็จจริง แล้วประมวลข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกันของสื่อเหล่านั้นขึ้นเป็นชุดความรู้หนึ่งๆ

ข้อเท็จจริง หมายถึง ข้อความแห่งเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือเป็นอยู่ตามจริง ข้อความหรือเหตุการณ์ที่จะต้องวินิจฉัยว่าเท็จหรือจริง มีหลักการวินิจฉัยคือ

1. เรื่องที่เกิดขึ้นมีความเป็นไปได้หรือไม่
2. เนื้อหามีความสมจริงหรือไม่
3. มีหลักฐานเชื่อถือได้หรือเปล่า
4. มีความสมเหตุสมผลหรือไม่

ข้อคิดเห็น หมายถึง ความเห็น ความรู้สึกนึกคิดของผู้ส่งสารที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อหา เช่น ความคิดเห็นจากผู้สื่อข่าว ความคิดเห็นของคนเขียนข่าว หรือคนรายงานข่าว ไม่เป็นข้อเท็จจริง และอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

 

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว