โดยปกติแล้วเรื่องของความชอบ หรือรสนิยม เป็นสิ่งที่แต่ละคนเห็นไม่ตรงกันอยู่แล้ว ทว่าแม้แต่การใช้เหตุผลเพื่อสืบสาวหาความถูกต้อง ก็ยังไม่อาจทำให้ได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันได้อย่างแท้จริง เรื่องบางเรื่อง สามารถใช้เหตุผลคนละชุดเพื่อสนับสนุนความคิดที่ตรงกันข้ามได้อย่างมีน้ำหนัก ดังนั้น การมีความเห็นที่แตกต่างกันจึงเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเราไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของเรื่องที่อ่านก็สามารถแสดงความเห็นโต้แย้งได้เสมอ
การโต้แย้ง คือ การแสดงความคิดเห็นของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากความคิดเห็นที่ได้รับฟังหรืออ่านมา โดยมุ่งอธิบายให้เห็นถึงความบกพร่อง ความผิดพลาดของเหตุผลหรือข้อมูลที่จะโต้แย้งด้วยนั้น แล้วสนับสนุนความคิดเห็นของตนเองด้วยเหตุผลหรือข้อมูลที่ดีกว่า
ความสำคัญในการโต้แย้งนั้นคือ “ประเด็น” ของการโต้แย้ง เราต้องจับประเด็นหรือหัวเรื่องการโต้แย้งให้ถูก สมมติว่าเราอ่านบทความที่เสนอว่า “มนุษย์เป็นสัตว์กินพืช” แล้วเราไม่เห็นด้วย เราต้องโต้แย้งในประเด็นที่ว่า ทำไมมนุษย์จึงไม่เป็นสัตว์กินพืช ไม่ใช่ไปโต้แย้งว่า สัตว์กินเนื้อมีวิวัฒนาการมากกว่าสัตว์กินพืช เพราะถึงแม้อาจจะดูเกี่ยวข้องกัน แต่เรื่องหลังนั้นต้องอาศัยเหตุผลที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าสัตว์อื่นเข้ามาประกอบ ซึ่งเป็นการเปิดประเด็นการโต้แย้งใหม่ คือ “มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าสัตว์อื่นหรือไม่” การโต้แย้งในลักษณะนี้ จึงทำให้เกิดการแตกประเด็นและหลงประเด็นในที่สุด ซึ่งเราจะไม่ได้ข้อสรุปในประเด็นตั้งต้นที่ต้องการจะโต้แย้งจริงๆ
หลักในการโต้แย้ง มีดังนี้
1. อ่านแล้วจับประเด็นให้ได้
2. ให้เหตุผลว่าทำไมเรื่องที่อ่านจึงไม่สมเหตุสมผล (ชี้จุดอ่อน)
3. แสดงเหตุผลหรือข้อมูลที่เราคิดว่าถูกต้องมากกว่า
เมื่อเราอ่านจับประเด็นได้แล้ว ให้เราแยกการให้เหตุผลของประเด็นที่จะโต้แย้งเป็น 2 ส่วน คือ ข้ออ้าง และข้อสรุป
ข้ออ้าง คือ สาเหตุ หรือข้อเท็จจริงบางอย่างที่ยอมรับกันทั่วไปว่าจริง หรือตรวจสอบได้
ข้อสรุป คือ ผลที่เกิดขึ้นจากสาเหตุในข้ออ้างนั้น อาจยังไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้ แต่คาดเดาได้ว่าจะเป็นเช่นนั้น
ตัวอย่างเช่น
ข้ออ้าง “ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี”
ข้อสรุปที่หนึ่ง “คนที่นับถือศาสนาทุกคนเป็นคนดี”
ข้อสรุปที่สอง “คนที่ไม่มีศาสนาทุกคนไม่เป็นคนดี”
การให้เหตุผลก็คือ การเชื่อมโยงจากข้ออ้างนำไปสู่ข้อสรุป แต่การให้เหตุผลก็ผิดพลาดได้เสมอ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะข้ออ้างที่ยกมาไม่เป็นจริง อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะวิธีการอ้างนั้นไม่สมเหตุสมผล ดังนั้น หากเราต้องการโต้แย้ง ก็ต้องพิจารณาว่า ความผิดพลาดของการอ้างเหตุผลนั้นอยู่ที่ใด ดังตัวอย่างข้างต้น เราอาจแย้งได้ดังนี้
แย้งที่ข้ออ้าง เช่น
“อาจไม่ใช่ทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี” หรือ “คำว่าคนดีมีความคลุมเครือ กล่าวคือ นิยามของคนดีในศาสนาหนึ่ง อาจไม่เหมือนกับศาสนาอื่น หรืออาจไม่มีนิยามของคนดีที่เป็นสากล”
แย้งที่วิธีการอ้าง เช่น
ข้อสรุปที่หนึ่ง “ไม่มีหลักประกันว่า คนที่นับถือศาสนาจะทำตามคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด คนที่นับถือศาสนาอาจทำเรื่องไม่ดีได้ในบางครั้ง จึงไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างข้ออ้างและข้อสรุป”
ข้อสรุปที่สอง “ข้อสรุปไม่ได้เป็นผลจากข้ออ้าง หรือไม่มีความเชื่อมโยงกันเลย”
ข้อควรระวังในการเขียนโต้แย้ง
ไม่ควรเขียนโต้แย้งด้วยความเห็นที่รุนแรงจนก่อให้เกิดความแตกแยก ต้องระมัดระวังในการใช้ภาษา ไม่ควรใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ ไม่ใช้คำที่เสียดสี เยาะเย้ย ดูถูกหรือดูหมิ่นผู้เขียนบทความ ไม่เขียนด้วยอารมณ์ ไม่พาดพิงให้เกิดความกระทบกระเทือนแก่ผู้อื่น อันอาจเป็นบุคคลหรือเป็นสิ่งที่บุคคลจำนวนมากเคารพนับถือ ซึ่งอาจกลายเป็นชนวนให้เกิดความแตกแยก หรือความเข้าใจผิดลุกลามต่อไปได้ เราควรพิจารณาโต้แย้งที่เหตุผลเป็นสำคัญเท่านั้น และควรเขียนเชิงสร้างสรรค์
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว