การวิเคราะห์วิจารณ์วรรณกรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 85.8K views



การอ่านวรรณกรรมหรืองานประพันธ์นั้น จะก่อให้เกิดรสทางอารมณ์ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้อ่านจะมีความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบวรรณกรรมชิ้นหนึ่งๆ ต่างจากการอ่านสารคดี หรือตำราวิชาการที่มุ่งจะเข้าใจเนื้อหาเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้เป็นหลัก ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบวรรณกรรมชิ้นหนึ่ง สามารถตีแผ่ออกมาผ่านการวิเคราะห์และวิจารณ์วรรณกรรมได้ เพื่อให้ทราบถึงข้อดีข้อด้อยของวรรณกรรมชิ้นนั้น และเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านตลอดจนงานเขียนของตนเองให้ดียิ่งขึ้นได้

ภาพ : shutterstock.com

การวิเคราะห์วรรณกรรม

การวิเคราะห์ คือ การแยกแยะองค์ประกอบของสิ่งที่จะศึกษาออกเพื่อพินิจเป็นส่วนๆ ไป การวิเคราะห์วรรณกรรม จึงหมายถึงการแยกองค์ประกอบของวรรณกรรมเพื่อศึกษาเป็นส่วนๆ เช่น ใครเป็นผู้แต่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เป็นคำประพันธ์ประเภทใด เป็นวรรณกรรมรูปแบบใด การดำเนินเรื่องเป็นอย่างไร เป็นต้น การวิเคราะห์วรรณกรรมมีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลเชิงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวรรณกรรมนั้นๆ

 

ประเด็นในการวิเคราะห์วรรณกรรม

1. ความเป็นมาของหนังสือหรือประวัติของผู้แต่ง เช่น “เพลงยาวถวายโอวาท” ประพันธ์โดยสุนทรภู่ ในขณะเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรแด่เจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว พระโอรสในเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
2. ลักษณะคำประพันธ์ที่ใช้ เช่น ร้อยแก้ว ร้อยกรองประเภทต่างๆ เช่น “ลิลิตพระลอ” ใช้คำประพันธ์แบบโคลงสลับกับร่าย
3. โครงเรื่อง เป็นส่วนแกนของเนื้อเรื่อง มักผูกปมปัญหาขัดแย้งบางอย่างไว้เพื่อรอการคลี่คลาย โดยอาจมีปมหลักปมรอง ปมซ้อนปม เช่น “รามเกียรติ์” เป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยอวตารของพระนารายณ์ที่ต้องมาปราบยุคเข็ญ หรือก็คือการทำสงครามระหว่างพระรามซึ่งร่วมกับทหารวานรเมืองขีดขินกับรากษสเจ้ากรุงลงกาอย่างราวณะหรือทศกัณฐ์ โดยมีปมปัญหาภายในครอบครัวของทั้งฝ่ายพระราม ฝ่ายลิง หรือแม้แต่ฝ่ายยักษ์เองก็ตาม
4. ตัวละคร เป็นตัวดำเนินเรื่อง อาจมีจำนวนมากหรือน้อยก็ได้ ความสำคัญคือการสร้างตัวละครให้มีบุคลิกโดดเด่น น่าจดจำ หรือมีความสมจริง เช่น “พระอภัยมณี” มีตัวละครเอกที่ผู้คนจดจำได้อยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น พระอภัยมณี นางผีเสื้อสมุทร นางเงือก สินสมุทร สุดสาคร พระเจ้าตา ม้านิลมังกร และชีเปลือย
5. ฉาก คือสถานที่และเวลาที่เรื่องราวเกิดขึ้นและดำเนินไปจนจบ เช่น “สามก๊ก” มีฉากคือ แผ่นดินจีนตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์ฮั่นไปจนกระทั่งสถาปนาราชวงศ์จิ้น
6. กลวิธีการนำเสนอเรื่องราว เช่น เล่าเรื่องผ่านการบอกเล่าของตัวละครอีกทอดหนึ่ง เช่นใน “ภควัทคีตา” ซึ่งเป็นบทหนึ่งของ “มหาภารตะ” นั้น เรื่องราวทั้งหมดถูกเล่าผ่านการบอกเล่าของสญชัย

 

การวิจารณ์วรรณกรรม

การวิจารณ์ คือ การพิจารณาถึงคุณค่าของวัตถุแห่งการวิจารณ์ การวิจารณ์วรรณกรรมจึงหมายถึงการพิจารณาว่าวรรณกรรมนั้นๆ มีคุณค่าหรือไม่ ประการใด การวิจารณ์วรรณกรรมมีลักษณะเป็นการให้ข้อคิดเห็นของผู้วิจารณ์ที่มีต่อวรรณกรรมนั้นๆ จึงไม่มีถูกไม่มีผิด คำวิจารณ์ต่อวรรณกรรมชิ้นเดียวกันอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคนเป็นธรรมดา

 

การวิจารณ์งานประพันธ์ทั่วไป นิยมพิจารณากว้างๆ ใน 4 ประเด็น ดังนี้

1. คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คือ ความไพเราะของบทประพันธ์ ความงดงามของภาษาที่ผู้แต่งเรียงร้อยไว้ อันจะทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์หรือความรู้สึกร่วม และสามารถจินตนาการตามที่เขียนต้องการได้
2. คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ คือ ประโยชน์ในด้านความรู้ หรืออาจเป็นข้อคิดสำหรับเตือนใจผู้อ่าน
3. คุณค่าด้านสังคม คือ การจรรโลงสังคมด้วยการสะท้อนภาพที่เป็นปัญหาของสังคม หรืออาจเสนอภาพของสังคมในอุดมคติก็ได้
4. คุณค่าด้านการนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน คือ ประโยชน์ในการนำเอาความรู้ ข้อคิด หรือเนื้อหาสาระที่ได้จากวรรณกรรมไปปฏิบัติได้จริง

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว