การอ่านงานเขียนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารคดีหรือบันเทิงคดี ทั้งบทกวี วรรณคดี วรรณกรรม เรื่องสั้น บทความ ตลอดจนข่าวสาร ล้วนต้องอาศัยการแปลความ ทั้งแปลจากภาษาอื่น หรือแปลความหมายในภาษาเดียวกัน จากระดับภาษาหนึ่งสู่ระดับภาษาที่เข้าใจได้ง่ายกว่า จากนั้นก็ต้องอาศัยการตีความ เพราะบางครั้งภาษาก็มีความกำกวม หรือมีการใช้สำนวนโวหาร ที่ต้องรู้บริบทของผู้เขียนจึงจะเข้าใจได้อย่างถูกต้อง และบางทีที่ผู้เขียนใช้ภาษาที่กระชับ รวบรัดเพื่อความสวยงาม การจะเข้าใจเนื้อหาของเรื่องที่อ่านได้อย่างถ่องแท้ ก็ต้องอาศัยการขยายความอีกด้วย
การตีความ
การอ่านสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสั้น นิทาน นวนิยาย วรรณกรรม ข่าว บทความ หรือเนื้อหาวิชาการ บ่อยครั้งที่เราอาจไม่เข้าใจความหมายที่ผู้แต่งต้องการจะสื่อ หรือเข้าใจได้ไม่ตรงกับที่ผู้แต่งหมายความ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะผู้แต่งมีประสบการณ์ทางด้านภาษามากกว่าเรา หรือมีภาพพจน์ของชุดคำศัพท์เดียวกันแตกต่างจากเรา
คำศัพท์คำเดียวกัน จะให้ภาพพจน์ที่ต่างกันในคนที่มีประสบการณ์กับคำนั้นต่างกัน เช่น คำว่า “โต๊ะ” หากผู้แต่งมีเชื้อสายจีน ยามเลือกใช้คำว่าโต๊ะ ก็อาจจะนึกถึงโต๊ะไม้ทรงกลมสำหรับนั่งล้อมวงกินข้าวกับครอบครัว แต่ผู้อ่านอาจจะนึกถึงโต๊ะอาหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบที่บ้าน เวลาจินตนาการตามผู้แต่งก็จะนึกภาพไปคนละทาง ซึ่งอาจส่งผลต่อการเข้าใจเนื้อเรื่องผิดไปได้
ผู้ประพันธ์สารต่างๆ มักเป็นผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาเป็นอย่างดี บางครั้งก็อาจใช้ภาษาที่สละสลวย แต่ไม่ใช่ระดับภาษาที่คนทั่วไปจะอ่านแล้วเข้าใจได้ในทันที หรือผู้แต่งอาจจงใจซ่อนความหมายบางอย่างไว้ใต้ความสวยงามของภาษา หากเราอ่านแบบผ่านๆ ก็จะไม่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ของสิ่งที่ผู้แต่งต้องการนำเสนอได้ หากต้องการที่จะเข้าใจความหมายที่ผู้แต่งสื่อให้ได้ใกล้เคียงที่สุด ผู้อ่านจะต้องใช้ สติปัญญา พื้นความรู้ ประสบการณ์ และจินตนาการในการอ่านสารอย่างพินิจพิจารณา ซึ่งทักษะในการอ่านดังนี้ก็คือ “การตีความ” นั่นเอง
หลักในการตีความเรื่องที่อ่าน
1. อ่านเนื้อเรื่องให้ละเอียด แล้วลองจับประเด็นสำคัญให้ได้
2. ใคร่ครวญด้วยเหตุผลว่า ข้อความที่ได้อ่านมีความหมายว่าอย่างไรกันแน่
3. ขบคำสำคัญให้แตก รวมทั้งคำแวดล้อมและบริบท เพื่อให้เข้าใจความหมายได้ลึกซึ้งขึ้น
ความสำคัญของการอ่านแบบตีความ
1. ทำให้เข้าใจเนื้อหาสาระของเรื่องที่อ่านได้หลายด้านหลายมุม
2. ทำให้เห็นคุณค่าและได้รับประโยชน์จากสิ่งที่อ่าน
3. เป็นการฝึกคิด ฝึกไตร่ตรองด้วยเหตุผล
4. ช่วยให้มีวิจารณญาณในการอ่านมากยิ่งขึ้น
5. เป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงงานประพันธ์นั้นๆ
6. ช่วยให้ผู้อ่านมีโลกทัศน์ที่กว้างไกล ลึกซึ้ง มีใจกว้างยอมรับความแตกต่างของมนุษย์ด้วยกันได้
การแปลความ
นอกจากการตีความแล้ว ทักษะที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ “การแปลความ” โดยการแปลความหมายถึง การแปลงหรือเรียบเรียง “ความ” ที่ได้อ่าน จาก “คำเดิม สำนวนเดิมหรือภาษาเดิม” ให้กลายเป็น “คำใหม่ สำนวนใหม่หรือภาษาใหม่” ซึ่งเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยที่ยังคงรักษาความหมายของเนื้อหาไว้ได้อย่างครบถ้วน
การแปลความมีหลายลักษณะ อาจเป็นการแปลจากภาษาหนึ่งไปเป็นภาษาหนึ่ง หรืออาจเป็นการแปลภาษาเดียวกัน แต่เปลี่ยนระดับของภาษา จากระดับทางการให้เป็นระดับภาษาพูดที่เข้าใจได้ง่ายกว่า หรือกลับกัน แปลภาษาพูดให้เป็นภาษาทางการเพื่อใช้ในงานต่างๆ หรืออาจเป็นการแปลสำนวน สุภาษิต คำพังเพย ให้เป็นข้อความธรรมดา หรืออาจเป็นการแปลบทกวี ร้อยกรอง ให้เป็นภาษาทั่วไปก็ได้
หลักสำคัญของการแปลความ
1. จับใจความสำคัญหรือสาระของเรื่องให้ได้
2. เรียบเรียงเป็นข้อความใหม่ที่มีความหมายชัดเจน และคงความหมายเดิมไว้ได้
การขยายความ
การขยายความ คือ การอธิบายความเข้าใจของเราที่มีต่อสารที่เราอ่านให้ผู้อื่นได้รับรู้ โดยอาจผ่านการแปลความและการตีความของเรา แล้วให้ความคิดเห็นหรือเหตุผลเพิ่มเติมเพื่อขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
วิธีการขยายความ
1. กล่าวถึงสาเหตุและผลที่สัมพันธ์กัน
2. ยกตัวอย่างหรือข้อเท็จจริงมาประกอบ
3. อธิบายสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นเพิ่มเติม
4. คาดคะเน (การอนุมาน) สิ่งที่น่าจะเป็น หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป โดยอาศัยข้อมูลจากเรื่องเดิมเป็นพื้นฐานในการคาดคะเน
ตัวอย่างการแปลความ ตีความ และขยายความจากคำประพันธ์โคลงสี่สุภาพ
“เมียท่านพิศพ่างเพี้ยง มารดา
ทรัพย์ท่านคืออิฐผา กระเบื้อง
รักสัตว์อื่นอาตมา เทียมเท่า กันแฮ
ตรองดั่งนี้จักเปลื้อง ปลดพ้นสงสาร”
(จาก “โคลงโลกนิติ”)
โคลงบทนี้แปลได้ความว่า “ภรรยาของผู้อื่น ให้มอง (พิศ) เสมือนหนึ่ง (พ่างเพี้ยง) มารดาของตน ทรัพย์สินของผู้อื่น ให้มองเสมือนหนึ่ง หิน อิฐและกระเบื้อง รักเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายให้เสมอกับที่รักตนเอง (อาตมา) หากคิดได้ดังนี้ ก็จะหลุดพ้นจากวัฏสงสาร (สงสาร)”
ซึ่งตีความได้ว่า “การไม่คิดชั่วช้าลามกต่อภรรยาผู้อื่น (มองเหมือนแม่) การไม่ยินดีต่อทรัพย์ของผู้อื่น (มองเป็นของไร้ค่า) และการไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น (รักเท่ารักตัวเอง) คือวิธีหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด”
และขยายความได้ว่า “การรักษาศีลโดยเฉพาะสามข้อแรกให้บริสุทธิ์ คือ ไม่ฆ่าหรือเบียดเบียนสัตว์ ไม่ลักทรัพย์หรือฉ้อโกง ไม่ประพฤติผิดในกาม จะเป็นพื้นฐานที่ทำให้บุคคลบรรลุถึงพระนิพพานในที่สุด”
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว