การท่องจำบทอาขยาน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 15.9K views



การให้ท่องจำบทอาขยาน เป็นกุศโลบายให้นักเรียนมีคลังความรู้ไว้กับตัว เพราะเราจะไม่สามารถคิดวิเคราะห์อะไรได้ดี ถ้าไม่มีข้อมูลความรู้เก็บไว้ในหัวสมอง เพื่อให้สามารถงัดขึ้นมาใช้ได้ทันทีเมื่อต้องการ ซึ่งวิธีท่องจำวิธีหนึ่ง ที่นิยมทำมาแต่โบราณก็คือ การอ่านบทอาขยาน ที่เป็นบทประพันธ์ที่มีคุณค่า ทั้งในด้านเนื้อหา และการใช้ภาษา

ภาพ : shutterstock.com

 

ถ้ากระบวนการเรียนการสอนไม่ให้ความสำคัญกับความจำ นักเรียนก็จะไม่มีความรู้ติดตัว ไม่มีอะไรในสมอง เหมือนเสียงที่เข้าหูซ้าย ทะลุหูขวา เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ความรู้ ก็ไม่มีอะไรในหัวที่แสดงออกให้เห็นได้ถึงการมีวิชาความรู้ พูดง่ายๆ ก็คือ สมองกลวงนั่นเอง

ยิ่งปัจจุบันมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้ค้นหาข้อมูลต่างๆ หรือโทรศัพท์มือถือมาช่วยบันทึกข้อมูล ก็ยิ่งทำให้คนยุคใหม่ไม่ค่อยได้จดจำอะไร อย่างเช่น หมายเลขโทรศัพท์ คนรุ่นก่อนๆ สามารถจำได้หลายสิบหมายเลข ซึ่งเป็นการฝึกสมองให้ได้ใช้งานตลอดเวลา

การให้ท่องจำบทอาขยาน เป็นกุศโลบายให้นักเรียนมีคลังความรู้ไว้กับตัว มีจุดประสงค์เพื่อให้จำบทอาขยาน ที่มีการใช้ภาษาไพเราะ สนุกสนาน ทั้งยังแฝงไว้ด้วยคติข้อคิด แล้วนำมาท่องปากเปล่า ซึ่งช่วยฝึกทั้งการออกเสียงร้อยแก้ว และการอ่านทำนองเสนาะ

 

หลักการอ่านออกเสียงบทอาขยานมีดังนี้

1. ออกเสียงดังพอสมควร ไม่ดังเกินไป จนเป็นการตะโกน หรือเบาเกินไปจนคนฟังไม่ได้ยิน

2. มีระดับเสียง คือ มีการเน้นเสียงสูง เสียงต่ำ ให้สอดคล้องกับจังหวะลีลา ท่วงทำนอง หรืออารมณ์ของบทประพันธ์

3. ออกเสียงให้ถูกอักขระวิธี คือ ออกเสียงคำควบกล้ำ ร เรือ ล ลิง ให้ชัด และถูกวรรคตอน 

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว