วรรณคดี คือวรรณกรรม หรือข้อเขียนที่ทรงคุณค่า เพราะสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่ลึกซึ้งของผู้เขียน ทั้งทางด้านเนื้อหา และวิธีการประพันธ์ การอ่านวรรณกรรมแต่ละเรื่อง จึงทำให้ผู้อ่านได้ซึมซาบสิ่งเหล่านี้ไปด้วย ซึ่งแบ่งได้เป็น คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คุณค่าทางเนื้อหา
คุณค่าด้านสังคม และคุณค่าจากการนำไปปรับใช้ชีวิตประจำวัน
ความเป็นอารยะของชนชาติหนึ่ง สามารถวัดได้จากการมีวรรณคดีเป็นของตัวเอง เพราะแสดงถึงวัฒนธรรมในด้านการภาษา ที่ต้องผ่านการพัฒนาอย่างยาวนาน และภูมิปัญญาทางสังคม ผ่านเนื้อหาที่แสดงถึงความเจริญทางจิตใจ
คุณค่าของวรรณคดี หรือวรรณกรรม นิยมพิจารณากว้างๆ ใน 4 ประเด็น คือ
1. คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คือ ความสละสลวยของภาษากวี ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ของผู้อ่าน หรือกล่าวได้ว่า ทำให้ผู้อ่านเกิดความสะเทือนอารมณ์ เพราะตัวอักษรได้เกาะกินใจผู้อ่าน จนเกิดจินตนาการตามบทประพันธ์ และมีความรู้สึกร่วมในที่สุด
กลวิธีทางภาษาที่กวีใช้บ่อยๆ ได้แก่
- การเล่นเสียง โดยนำคำพ้องเสียง หรือพ้องรูป มาเรียงต่อกัน
- การเล่นคำซ้ำ คือ การซ้ำคำเดิม เพื่อเน้นความหมายของคำให้ชัดเจน และหนักแน่น
- การใช้ภาพพจน์ คือ การใช้คำที่ไม่ตรงไปตรงมา แต่เป็นการอุปมาเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพ
2. คุณค่าทางเนื้อหา คือ สาระที่ผู้อ่านได้รับ จะเป็นความรู้ หรือข้อคิดก็ได้
3. คุณค่าด้านสังคม เพราะวรรณวรรณกรรมต่างๆ เป็นเครื่องสะท้อนความเป็นไปทางสังคม วรรณกรรมที่ดี จึงต้องช่วยจรรโลงสังคมได้ โดยสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้คนในสังคมเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสงบสุข
4. การนำไปปรับใช้ชีวิตประจำวัน คือ ผู้อ่านสามารถนำความรู้ แนวคิด หรือบทสอนต่างๆ จากวรรณกรรม ไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้จริง
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว