ความงดงามทางภาษา นอกจากจะปรากฏออกมาในรูปของ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่ายแล้ว ในรูปแบบของร้อยแก้ว หรือภาษาพูด ก็มีให้เห็นเช่นเดียวกัน เช่น สำนวน คำพังเพย และสุภาษิต ที่มีความหมายลึกซึ้ง
สำนวนไทย
สำนวน คือ ถ้อยคำ หรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตัว หรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่ เป็นการกล่าวเพื่อเปรียบเทียบเหตุการณ์ ให้คติ หรือแง่คิด เป็นภาษาที่สั้น กระชับ งดงาม คมคาย เช่น
“เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร” แปลว่า ยอมเสียทรัพย์จำนวนมาก (ทองกองสูงเท่าศีรษะ) แต่ไม่ยอมเสียศักดิ์ให้กับผู้หญิงคนอื่น
“เสือนอนกิน” แปลว่า ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มาอย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง
“ออกทะเล” แปลว่า พูดนอกเรื่องไปไกล พูดเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็น
สำนวนไทยยังแบ่งได้เป็น คำพังเพย และสุภาษิต ซึ่งมีความแตกต่างกันดังนี้
คำพังเพย
คำพังเพย คือ สำนวนที่ใช้กล่าวเปรียบเปรย มีความหมายเป็นกลางๆ เพื่อให้ตีความเข้ากับเรื่องราวได้ บางทีมีลักษณะเป็นการเสียดสี ประชดประชัน ว่ากล่าว เหมือนเป็นการใช้เพื่อตำหนิ ตักเตือน บางทีเป็นการเปรียบเปรยให้เห็นภาพพจน์เท่านั้น
ตัวอย่างคำพังเพย
“กำปั้นทุบดิน” แปลว่า ตอบคำถามแบบไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรใหม่แก่ผู้ถาม
“เขียนด้วยมือลบด้วยตีน” แปลว่า บรรจงสร้างขึ้นมา แล้วทำลายทิ้งอย่างไม่ไยดี
“ฆ่าควายเสียดายพริก” แปลว่า ลงทุนทำการใหญ่ แต่มัวมาเสียดายของเล็กน้อยจนเสียการ เหมือนลงทุนล้มควาย แต่มาเสียดายพริกทำเครื่องปรุง
“จุดไต้ตำตอ” แปลว่า พูดกับคนอื่นถึงเรื่องราวของบุคคลที่สาม โดยหารู้ไม่ว่า คนที่พูดถึงก็คือคนที่พูดคุยอยู่ด้วยนั่นเอง
“ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด” แปลว่า ทำเรื่องเสียหายร้ายแรงไว้ แล้วพยายามปกปิด แต่ปิดอย่างไรก็ไม่มิด
“ซื้อวัวหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว” แปลว่า ไม่รู้จักเตรียมการล่วงหน้า รอให้จวนตัวค่อยทำย่อมได้รับความยากลำบาก (ฤดูทำนาวัวราคาแพง ฤดูหนาวผ้าแพง)
“ตกกระไดพลอยโจน” แปลว่า ไม่ได้ตั้งใจจะทำตั้งแต่แรก แต่เหตุการณ์พาไป เลยจำเป็นต้องทำ เหมือนจะตกบันได เลยต้องออกแรงกระโจนลงมาด้วย
“ตีงูให้กากิน” แปลว่า ลงทุนลงแรงจัดการเรื่องราวเอง แต่ผู้อื่นกลับได้รับผลประโยชน์ไปแทน
“ผีซ้ำด้ำพลอย” แปลว่า เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เปรียบเหมือนถูกผีเล่นงานแล้วด้ำ (ผีบ้านผีเรือน) ยังพลอยซ้ำเติมอีก
“ลางเนื้อชอบลางยา” แปลว่า บางคนก็เหมาะกับบางสิ่ง แต่ละคนมีความชอบต่างกัน (คำว่า “ลาง” ปัจจุบันคือ “บาง”)
“มีทองเท่าหนวดกุ้ง นอนสะดุ้งจนเรือนไหว” แปลว่า มีสมบัตินิดเดียว แต่ทำเป็นตื่นตระหนกเกินเหตุว่าจะมีคนมาแย่งชิง
“ไม่ดูตาม้าตาเรือ” แปลว่า เลินเล่อ สะเพร่า ไม่รอบคอบ เหมือนเดินหมากรุกแล้วไม่สังเกตว่า ตาที่จะเดินจะถูกม้า หรือเรือกินได้หรือไม่
“ศรศิลป์ไม่กินกัน” แปลว่า เอาชนะกันไม่ได้ กินกันไม่ลง ไม่สามารถทำอันตรายกันได้ (มาจากวรรณคดีรามเกียรติ์ ตอนที่พระราม และพระมงกุฎแผลงศรใส่กัน แต่ทว่าสองพ่อลูกทำอันตรายกันไม่ได้ ต่อมาคนที่ไม่เข้าใจความหมายเดิม นำสำนวนนี้ไปใช้ หมายความถึงคนที่ไม่ถูกกัน ไม่ชอบหน้ากัน ไม่กินเส้นกัน ซึ่งเป็นการใช้ที่ผิดความหมาย)
“เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” แปลว่า กำจัดบุคคลที่เคยช่วยเหลือ หรือร่วมแรงร่วมใจกันมา เมื่อบรรลุผลสำเร็จตามที่หมาย
สุภาษิต
สุภาษิต คือ สำนวนที่ใช้กล่าวเพื่อสั่นสอน ชี้นำทางที่ดี สิ่งที่ดี (สุ แปลว่า ดีงาม) มีความหมายเป็นคติธรรม สุภาษิตมักถูกหยิบยกมาใช้ในงานเขียนร้อยแก้ว ในการเล่านิทาน และในการเทศนา
ตัวอย่างสุภาษิต
“คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล” แปลว่า เลือกคบคนโง่ ก็จะพลอยทำให้โง่ไปด้วย เลือกคบคนมีปัญญา ก็จะพลอยมีปัญญาไปด้วย
“ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม” แปลว่า ค่อยๆ คิดอย่างรอบคอบ ค่อยๆ ทำอย่างละเอียดถี่ถ้วน ผลที่ออกมาจะสำเร็จสมดังตั้งใจ
“นกน้อยทำรังแต่พอตัว” แปลว่า รู้จักประมาณตน ทำการต่างๆ ให้พอเหมาะแก่ฐานะของตัวเอง
“น้ำขุ่นไว้ในน้ำใสไว้นอก” แปลว่า เก็บเรื่องราว หรือความรู้สึกไม่ดีไว้ข้างในใจ แสดงออกด้วยความโอภาปราศรัย และน้ำใจไมตรี
“น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ” แปลว่า อย่าเพิ่งทัดทาน หรือขัดขวางผู้มีอำนาจที่กำลังเดือดดาล เกรี้ยวกราด มุทะลุ (เหมือนหันเรือขวางทางน้ำที่กำลังไหลเชี่ยว น้ำจะพัดเรือจนเสียการควบคุม จนอาจถึงกับพลิกคว่ำได้)
“รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” แปลว่า รักสิ่งใดให้คอยดูแลเอาใจใส่ให้อยู่ในสายตา หรืออยู่ในกรอบอันดีงาม (ตีลูกเมื่อลูกทำผิด)
“สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ” แปลว่า ความดี ความชั่วที่กระทำ ส่งผลเป็นความรู้สึกสุขทุกข์อยู่ในจิตใจ
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว