การสร้างคำภาษาไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 186.8K views



ภาษาไทยเหมือนต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขางอกงามออกไป ในแง่ที่ว่า มีการเกิดขึ้นของคำศัพท์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา นับวันเราจะมีคำแปลกๆ ใช้เพิ่มมากขึ้น ตามการพัฒนาของสังคมในด้านต่างๆ เพื่อหาคำมารองรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงการสร้างคำที่สื่อความหมายใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย ซึ่งในภาษาไทย จะมีคำแท้ที่เรียกว่า คำมูล ที่สามารถนำไปใช้สร้างเป็นคำประสม คำซ้ำ และคำซ้อนต่อไป

ภาพ : shutterstock.com

พยางค์

เสียงที่เราเปล่งออกมา 1 ครั้งนับเป็น 1 พยางค์ ไม่ว่าเสียงนั้นจะมีความหมาย หรือไม่มีความหมาย ก็นับเป็น  1 พยางค์ เช่น ออกเสียงว่า “อุ” นั่นคือ 1 พยางค์ ถ้าออกเสียงว่า “อุ อุ อุ” นั่นคือ 3 พยางค์ แม่ว่าจะไม่มีความหมาย เป็นต้น

พยางค์ 1 พยางค์ มีส่วนประกอบด้วยองค์ 3 คือ พยัญชนะต้น สระ และวรรณยุกต์ เช่น “อา” ประกอบด้วย พยัญชนะต้น อ อ่าง + สระอา + เสียงวรรณยุกต์สามัญ

พยางค์เป็นส่วนประกอบย่อยของคำด้วย คำบางคำประกอบด้วยพยางค์เดียว คำบางคำมีหลายพยางค์ เช่น

รัตนโกสินทร์ (รัด-ตะ-นะ-โก- สิน) มี 5 พยางค์
อุตุนิยมวิทยา (อุ-ตุ-นิ-ยม-วิด-ทะ- ยา) มี 7 พยางค์ เป็นต้น

 

คำ

คือพยางค์ที่มีความหมาย ซึ่งเริ่มมีความหมายได้ตั้งแต่ 1 พยางค์ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา

คำที่ไม่มีตัวสะกด คือมี 3 ส่วนประกอบ คือ พยัญชนะต้น + สระ + วรรณยุกต์ เรียกว่า พยางค์เปิด เช่น งู ม้า ลา ไก่

คำที่มีตัวสะกด คือมี 4 ส่วนประกอบ คือ พยัญชนะต้น + สระ + วรรณยุกต์ + ตัวสะกด เรียกว่า พยางค์ปิด เช่น มด ยุง หุง ข้าว

แต่คำที่ใช้ตัวการันต์บนตัวสะกด เราจะไม่ออกเสียงตัวสะกดนั้น เช่น เล่ห์ เสน่ห์ จันทร์ เทศน์ ทุกข์

 

คำมูล

“มูล” มีความหมายว่า โคน รากเหง้า “คำมูล” จึงหมายถึง คำพื้นฐานที่มีความหมายสมบูรณ์ในตัวเอง เป็นคำที่สามารถนำไปใช้สร้างเป็นคำประสม คำซ้ำ และคำซ้อน ที่เราจะได้เรียนรู้กันต่อไป

คำมูล เป็นคำที่มีความหมายเดียว เช่น ทำ บ้าน พ่อ แม่ หรือหลายความหมายก็ได้ เช่น สาว พาย ชาย แก่ ปาน กา รา ดำ

คำมูลอาจมีพยางค์เดียว หรือหลายพยางค์ก็ได้ เช่น กระจอก สนุก สับปะรด บันได ลิเก นิโคติน เป็นต้น คำมูลที่มีหลายพยางค์นั้น เมื่อแยกพยางค์ออกแล้ว แต่ละพยางค์จะต้องไม่มีความหมาย แต่ถ้ามีพยางค์ใดพยางค์หนึ่ง หรือทุกพยางค์มีความหมายในตัวเอง ความหมายนั้นต้องไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความหมายของคำมูลนั้น

ตัวอย่างคำมูลที่มีหลายพยางค์ ก็เช่น

“ซะซร้าว” แยกเป็น “ซะ” + “ซร้าว” (พยางค์หลังออกเสียงว่า ซ้าว) เมื่อแยกพยางค์แล้ว แต่ละพยางค์ไม่มีความหมาย
“กระต่าย” แยกเป็น “กระ” (เต่าชนิดหนึ่ง หรือจุดดำๆ) + “ต่าย” (ไม่มีความหมาย) เมื่อรวมกันหมายถึง กระต่าย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน
“สับปะรด” แยกเป็น “สับ” (ใช้ของมีคมฟันลงไป) + “ปะ” (พบกัน หรือปิดทับส่วนที่ชำรุด) + “รด” (เท ราด สาด ฉีดของเหลวลงไป) เมื่อรวมกันหมายถึง ผลไม้ชนิดหนึ่ง

ตัวอย่างคำที่ไม่ใช่คำมูลก็เช่น

“สู้รบ” เมื่อแยกพยางค์ออก ทั้งคำว่า “สู้” และ “รบ” มีความหมายไปในทางเดียวกับคำว่า “สู้รบ”

การสร้างคำในภาษาไทยจากคำมูลนั้น มีด้วยกัน 3 แบบ คือ ประสมกันเป็นคำประสม ซ้อนกันเป็นคำซ้อน และซ้ำกันเป็นคำซ้ำ

 

คำประสม

คำประสมสร้างจากคำมูล ที่มีความหมายต่างกัน มารวมกันตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป แล้วมีความหมายใหม่ แต่ก็ต้องมีความหมายใกล้เคียงกับคำมูลเดิมคำใดคำหนึ่ง ที่นำมาประสมกัน หรือมีความหมายไปในเชิงเปรียบเทียบ

เช่น “แม่ทัพ” คำว่า “แม่” หมายถึง “มารดา” มีความหมายต่างจากคำว่า “ทัพ” ที่หมายถึง “กองกำลังทหาร” แต่เมื่อรวมกัน จะหมายถึง ผู้ออกคำสั่ง หรือหัวหน้าสูงสุดของกองทหาร ซึ่งเป็นความหมายใหม่ แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับความหมายของคำมูลเดิม คือ เป็นเรื่องของการทหาร และหมายถึงตัวผู้มีอำนาจสูงสุด ผู้เป็นใหญ่ในกองทหาร ซึ่งเปรียบเหมือน “แม่” ที่เป็นใหญ่ในบ้าน

ตัวอย่างคำประสมอื่นๆ ก็เช่น แม่บ้าน พ่อครัว รถบรรทุก ปลาเสือ ละครลิง น้ำปลา ผงซักฟอก เป็นต้น

หากเราแบ่งตามชนิดของคำที่นำมาประสมจนเกิดคำใหม่ สามารถแบ่งได้ดังนี้

- คำนามประสมกับคำนาม เช่น ผีเสื้อ ปลาเสือ น้ำปลา พ่อตา รถไฟ
- คำนามประสมกับคำกริยา เช่น รถเข็น ปลากัด ข้าวผัด นักวิ่ง ไก่ชน
- คำนามประสมกับคำวิเศษณ์ เช่น น้ำหวาน หัวหอม ใจดี ปากหวาน กล้วยหอม
- คำนามประสมกับคำลักษณะนาม เช่น วงเดือน ดวงใจ เพื่อนฝูง วงแหวน ใบสั่ง
- คำนามประสมกับคำสรรพนาม เช่น คุณพ่อ คุณแม่ คุณหลวง ท้าวเธอ
- คำกริยาประสมกับคำกริยา เช่น กันชน ตีพิมพ์ เดินเล่น กินรวบ
- คำกริยาประสมกับคำวิเศษณ์ เช่น ยิ้มแป้น เดินทน ผัดเผ็ด
- คำวิเศษณ์ประสมกับคำวิเศษณ์ เช่น หวานเย็น เปรี้ยวหวาน ดำมืด คมกริบ ขาวปลอด

 

คำซ้อน

เกิดจากการเอาคำที่มีความหมายเหมือนกัน คล้ายกัน หรือตรงข้ามกัน มารวมกันเป็นคำใหม่ เพื่อให้มีความหมายชัดเจนมากขึ้น หนักแน่นมากขึ้น ให้รายละเอียดมากขึ้น เช่น เสียดสี เกียจคร้าน รุ่งเรือง มุ่งหมาย ผลัดเปลี่ยน

โดยคำซ้อนมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญคือ

1.) คำซ้อนมีลักษณะคล้ายคำประสม คือ คำซ้อนมาจากคำในภาษาใดก็ได้ เป็นคำชนิดใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น คำนาม สรรพนาม กริยา วิเศษณ์ 2 คำขึ้นไปมาประสมกัน โดยจะแตกต่างจากคำประสมตรงที่ คำซ้อนจะมาจากคำมูลที่มีความหมายคล้ายกัน หรือเกี่ยวข้องในเรื่องเดียวกัน โดยเป็นไปในทางเดียวกัน หรือทางตรงกันข้ามก็ได้

เปรียบเทียบความแตกต่างกันดังตัวอย่าง

คำซ้อน

คำประสม

รากฐาน

ภูมิฐาน

เรือแพ

เรือรบ

บ้านเรือน

บ้านนอก

ลูกหลาน

ลูกค้า

ตื้นลึก

รูปถ่าย

ถี่ห่าง

ปูเค็ม

        2.) ความหมายของคำซ้อนจะอยู่ในคำมูลคำใดคำหนึ่งเพียงคำเดียว ส่วนคำประสมความหมายจะเป็นความหมายใหม่ต่างจากคำมูลเดิม

เปรียบเทียบความแตกต่างกันดังตัวอย่าง

คำซ้อน

คำประสม

กีดกัน (ความหมายอยู่ที่คำว่า กัน)

กันสาด (ความหมายใหม่)

เขตแดน (ความหมายอยู่ที่คำว่า เขต หรือ แดน)

ดินแดน (ความหมายใหม่)

เนื้อตัว (ความหมายอยู่ที่คำว่า ตัว)

เล่นตัว (ความหมายใหม่)

ปากคอ (ความหมายอยู่ที่คำว่า ปาก)

ปากกา (ความหมายใหม่)

คำซ้ำ

คำซ้ำมีรูปแบบคล้ายกับคำซ้อน คือ เป็นคำที่เกิดจากคำมูลตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมาประสมกัน แต่คำมูลที่นำมาประสมกันนั้น ต้องเป็นคำเดียวกัน จึงจะเกิดเป็นคำซ้ำ โดยคำที่เกิดขึ้นใหม่ จะมีความหมายคล้ายเดิม แต่เน้นน้ำหนักของความหมาย ให้หนักขึ้น หรือเบาลง หรืออาจเปลี่ยนความหมายเป็นอย่างอื่นก็ได้

คำซ้ำมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญคือ

1.) เป็นคำประเภทใดก็ได้เช่น คำนาม สรรพนาม กริยา วิเศษณ์
2.) นำคำหนึ่งคำมาซ้ำกันสองครั้ง เช่น “ร้อนๆ” “หนาวๆ” “เด็กๆ” “เล่นๆ”
3.) น้ำคำซ้อนมาแยกเป็นคำซ้ำสองคำ เช่น “ลูบคลำ” เป็น “ลูบๆ คลำๆ” “ดีชั่ว” เป็น “ดีๆ ชั่วๆ” “เงินทอง” เป็น “เงินๆ ทองๆ”
4.) น้ำคำซ้ำมาประสมกัน เช่น “งูๆ ปลาๆ” “ไปๆ มาๆ” “ลมๆ แล้งๆ”

 

ความหมายของคำซ้ำอาจเปลี่ยนไปจากคำเดิมได้ เช่น

- บอกความเป็นพหูพจน์ คำเดิมอาจจะเป็นคำเอกพจน์ หรือพหูพจน์ แต่คำที่ซ้ำที่เกิดขึ้นใหม่จะเป็นพหูพจน์ได้อย่างเดียว เช่น

“ไปเที่ยวกับเพื่อน” (เอกพจน์หรือพหูพจน์ ได้ทั้ง 2 กรณี)
“ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ” (เป็นพหูพจน์ เพราะเพื่อนหลายคน)
“เด็กอยู่ในห้อง” (เอกพจน์หรือพหูพจน์ ได้ทั้ง 2 กรณี)
“เด็กๆ อยู่ในห้อง” (เป็นพหูพจน์ เพราะเด็กหลายคน)

- บอกความเน้นหนักของคำ คำวิเศษณ์บางคำเมื่อเป็นคำซ้ำ จะมีความหมายเน้นหนักมากกว่าเดิม โดยมากเป็นภาษาพูด โดยออกเสียงคำแรกเป็นเสียงตรี เช่น

สวยๆ ออกเสียงเป็น “ซ้วยสวย”
ดีๆ ออกเสียงเป็น “ดี๊ดี”
มากๆ ออกเสียงเป็น “ม้ากมาก”
ดำๆ ออกเสียงเป็น “ด๊ำดำ”
ใหญ่ๆ ออกเสียงเป็น “ไย้ใหญ่”

- บอกความไม่เน้นหนัก คำวิเศษณ์บางคำเมื่อเป็นคำซ้ำ ความหมายอาจคลายความหนักแน่นไปกว่าคำเดิม แตกต่างจากคำที่ให้ความหมายเน้นหนัก เพราะไม่เน้นเสียงคำแรกเป็นเสียงตรี ส่วนมากคำเหล่านี้ใช้ในภาษาพูด มากกว่าภาษาเขียน เช่น

ฉันชอบสีแดง (แดงเลย) กับ ฉันชอบสีแดงๆ (ขอให้ออกแดงหน่อย)
ธนาคารอยู่ใกล้ (ใกล้จริง) กับ ธนาคารอยู่ใกล้ๆ (อยู่ไม่ไกล)
วันนี้อากาศเย็น (เย็นจริง) กับ วันนี้อากาศเย็นๆ (ค่อนข้างเย็น)

- บอกคำสั่ง คำวิเศษณ์ที่เป็นคำซ้ำ บางครั้งมีความหมายเป็นคำสั่ง ถ้าผู้พูดออกเสียงหนักๆ ก็จะเป็นคำสั่งที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น

“เงียบๆ” (สั่งให้งดใช้เสียง)
“เบาๆ” (สั่งให้ระวัง)
“ดังๆ” (สั่งให้พูดดังขึ้น)
“นิ่งๆ” (สั่งไม่ให้ขยับ)

- เปลี่ยนความหมายใหม่ คำซ้ำบางคำ จะเปลี่ยนเป็นความหมายใหม่ไปเลย โดยไม่มีเค้าของคำคำเดิม เช่น

“กล้วยๆ” (ง่ายมาก)
“หมูๆ” (ง่ายมาก)
“ลวกๆ” (ขอไปที)
“งูๆ ปลาๆ” (รู้แค่ผิวเผิน)

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว