ในโลกปัจจุบัน เราหนีสื่อไปไหนไม่พ้น ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เราจะพบเห็นสื่อมากมาย รายล้อมรอบตัวเรา ยิ่งวิทยาการก้าวไกล รวดเร็วมากขึ้นเท่าไร สื่อก็มาถึงเรารวดเร็วมากขึ้นเหมือนเงาตามตัว คนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ จึงต้องมีหลักในการประเมินความน่าเชื่อถือของสื่อ โดยเฉพาะเนื้อหาในเชิงโน้มน้าวใจ เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทัน
สังคมปัจจุบันเป็นสังคมของสื่อ สังคมแห่งการบริโภคสื่อ ดังนั้นเมื่อเรารับสื่อ ก็ต้องรู้จักคิด ไตร่ตรองก่อนว่า จะเชื่อได้ไหม เป็นจริงอย่างเนื้อหาในสื่อหรือไม่
หลักการประเมินความน่าเชื่อถือของสื่อที่ฟังและดู
1. ความน่าเชื่อถือของประเภทสื่อ ปัจจุบันเรารับสารจากอินเทอร์เน็ต หรือสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าจากสื่อเดิม ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือ วารสาร นิตยสาร แต่ถ้าพูดถึงความน่าเชื่อถือแล้ว สื่อเดิมๆ อย่างโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์นั้น มีความน่าเชื่อสูงกว่า เพราะผู้เผยแพร่มีความรับผิดชอบในทางกฎหมาย ในขณะที่ผู้เขียนตามสื่อสังคมออนไลน์นั้น หลบเลี่ยงกฎหมายได้ง่ายกว่า
2. ความน่าเชื่อถือของผู้เขียน หรือเจ้าของสื่อ ว่ามีคุณวุฒิ ความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ หรือไม่ เช่น เรื่องการฝ่าตัดเสริมความงาม ต้องฟังหมอ ไม่ใช่ดารา โดยทั่วไป หน่วยงานภาครัฐจะน่าเชื่อถือกว่าเอกชน หรือสื่อที่นำเสนอเนื้อหาเฉพาะด้าน มักน่าเชื่อว่าสื่อที่นำเสนอทุกเรื่อง
3. ประโยชน์ของเนื้อหา ผู้รับสื่อต้องรู้จักคิด รู้จักใช้วิจารณญาณเมื่อได้ดูหรือฟัง ว่ามีประโยชน์หรือโทษ เพราะในปัจจุบันภัยก็มากับสื่อด้วย เช่น มิจฉาชีพเดี๋ยวนี้ฉ้อโกงทรัพย์สิน เช่น เงินในบัญชีธนาคาร โดยอาศัยช่องทางการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต ดังนั้น การรับสื่อต้องมีสติ ไตร่ตรองพิจารณาให้ดี แยกให้ออกว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริง อะไรเป็นสิ่งหลอกลวง
4. ประเมินความทันสมัยของเนื้อหา จาก วัน เดือน ปี ที่พิมพ์ หรือที่เผยแพร่ เป็นต้น เพราะหลายเรื่องนั้น โดยเฉพาะเรื่องทางวิทยาศาสตร์ จะมีการพัฒนาข้อมูลตลอดเวลาจากการค้นพบใหม่ จึงต้องพยายามติดตามข้อมูลที่ทันสมัยเสมอ
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว