ก่อนจะพูดสรุปเรื่องราวใดๆ เราจะต้องผ่านการฟัง หรือดูอะไรบางอย่างมาก่อนทั้งสิ้น เพราะถ้าไม่ผ่านการฟังหรือดูแล้ว ก็จะไม่มีข้อมูลต้นเรื่องอะไรให้สรุปนั่นเอง ในการพูดสรุปความนั้น มีหลักการเดียวกันกับการเขียนย่อความคือ เริ่มจากการทำความเข้าใจเรื่องราวนั้น เก็บรายละเอียดสำคัญ แล้วนำมาเรียบเรียงให้กระชับตามสำนวนของเราเอง เพียงแต่ว่าครั้งนี้เราจะสื่อสารด้วยการพูด ไม่ใช่การเขียน
การพูดเป็นทักษะที่ควบคู่มากับการฟัง ตั้งแต่แรกเกิด เราได้ยินเสียงของแม่แล้วพูดตามที่แม่สอนให้พูด ถ้าเราพิการทางหู ก็ไม่สามารถรับฟังได้ ทำให้ไม่สามารถออกเสียงพูดตามที่แม่สอนได้ เป็นอาการของคนใบ้ เมื่อเข้าโรงเรียน ก็ได้ฝึกการอ่าน การเขียน เพิ่มเติม
สำหรับการพูดนั้น คนปกติย่อมสามารถพูดได้ แต่การพูดอย่างมีระบบระเบียบ จะต้องได้รับการศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อที่จะได้รู้หลักวิธีการพูดให้ถูกต้อง เป็นพื้นฐานในการเรียน และการทำงานในอนาคต โดยทักษะการพูดทักษะหนึ่งที่สำคัญก็คือ การพูดสรุปความ หรือการพูดสรุปใจความสำคัญ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
1. ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เมื่อฟังหรือดูเรื่องอะไรก็ตาม เช่น เมื่อชมการสอนวิธีทำน้ำเชื่อม เราก็ต้องดูขั้นตอนการทำอย่างตั้งใจในแต่ละขั้นตอน ผู้สอนมีขั้นตอนอะไรบ้าง ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง เราต้องจดจำขั้นตอนกระบวนการได้
2. สรุปความเข้าใจในการฟังและดู ถามตัวเองว่า เรื่องนั้นเกี่ยวกับใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เลือกเอาแต่ใจความสำคัญ
3. หาประโยชน์จากการฟังและดู ว่าเราได้สาระอะไรบ้าง และจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
4. เขียนสรุปเรื่อง โดยเอาใจความสำคัญมาเรียบเรียงใหม่ให้สละสลวย
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว