การเขียนรายงาน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 36.4K views



ในการเรียนและในการทำงาน จะต้องมีการเขียนรายงานเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น เราจึงต้องเรียนรู้ส่วนประกอบของรายงาน ลักษณะการเขียนรายงานที่ดี และขั้นตอนการเขียนรายงาน เพื่อให้สามารถทำรายงานประกอบการเรียน หรือการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

ภาพ : shutterstock.com

 

รายงาน (Report) เป็นผลของการศึกษาค้นคว้าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น รายงานการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล ซึ่งเรียบเรียงแล้วพิมพ์อย่างถูกต้องตามแบบแผนที่กำหนด การทำรายงานอาจทำเป็นรายบุคคล หรือเป็นกลุ่มก็ได้

 

ประโยชน์ของการฝึกเขียนรายงาน

1. รู้จักวิธีการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง เมื่อได้รับมอบหมายหัวข้อรายงาน ก็ต้องทำการค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ และเรียบเรียงเป็นรายงานในวิชาต่างๆ
2. ฝึกทักษะด้านการอ่าน และการค้นคว้า เพราะนักเรียนจะต้องอ่าน ต้องค้น จากหลายๆ แหล่ง หรือหนังสือหลายๆ เล่มมาประกอบกัน เป็นกระบวนการซึมซับความรู้ที่ดี
3. มีความคิดริเริ่มดีๆ จากการได้ค้นคว้า
4. สามารถวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ได้ โดยรู้จักใช้วิจารณญาณของตนเอง สามารถสรุปเรื่องราวได้เองจากการได้อ่านมากๆ
5. ฝึกทักษะด้านการเขียน จากการเรียบเรียงข้อมูลที่ได้มาให้เป็นเรื่องราวอย่างมีระเบียบ

 

ลักษณะของรายงานที่ดี

1. ต้องแสดงให้เห็นว่า ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง กว้างขวาง และครบถ้วนตามหัวข้อที่กำหนด 
2. มีเนื้อหาที่ถูกต้อง
3. เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ผู้เขียนมีความเข้าใจชัดเจนในเรื่องที่เขียน
4. มีการลำดับเนื้อหาดี หัวข้อมีความสัมพันธ์กัน ไม่สร้างความสับสนแก่ผู้อ่าน
5. มีหลักฐานที่มาอย่างถูกต้อง และละเอียดถี่ถ้วน มีแหล่งอ้างอิงข้อมูลประกอบรายงาน
6. ใช้ภาษาในการเขียนได้ถูกต้อง และเป็นภาษาที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป

 

ส่วนประกอบของรายงาน

1. ส่วนนำ หรือส่วนประกอบตอนต้น เป็นส่วนที่อยู่ตอนต้นเล่มของรายงานก่อนถึงเนื้อเรื่อง ประกอบด้วย ปกนอก ปกใน คำนำ สารบัญ
2. ส่วนเนื้อเรื่อง หรือส่วนประกอบตอนกลาง ต่อจากส่วนนำ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของรายงาน เพราะจะครอบคลุมเนื้อเรื่องทั้งหมดของรายงานตามโครงเรื่องที่กำหนดไว้ หรือตามหัวข้อที่ระบุไว้ในสารบัญ
3. ส่วนท้าย เป็นส่วนของบรรณานุกรม ที่แสดงให้ผู้อ่านได้ทราบที่มาของการเขียนรายงาน ช่วยให้ผู้อ่าน หรือผู้ใช้ประโยชน์จากรายงาน สามารถตรวจสอบค้นคว้าเพิ่มเติมได้

 

ขั้นตอนการเขียนรายงาน

1. เลือกหัวข้อรายงาน ตามหัวข้อที่ชอบ หรือมีความถนัด เพื่อให้รู้สึกสนุกในการค้นคว้า ไม่เครียด
2. สำรวจห้องสมุด ว่ามีหนังสือที่จะใช้ศึกษาค้นคว้าหรือไม่ ถ้าไม่มีต้องหาจากทางอื่น
3. เขียนโครงเรื่อง เป็นการกำหนดขอบเขตของเรื่องที่ต้องการค้นคว้าอย่างคร่าวๆ เหมือนการร่างภาพก่อนจะวาดรูป ลงสี
4. อ่านแล้วจดบันทึกข้อความไว้ ควรอ่านเฉพาะเรื่อง หรือตอนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
5. เรียบเรียงเนื้อหา คือการเขียนรายงาน ตามโครงเรื่องที่ได้กำหนดไว้
6. อ้างอิงที่มาของข้อมูล หรือข้อความ เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่ามาจากที่ใด เป็นการให้เกียรติผู้แต่ง และแสดงว่าเราค้นคว้ามาจริง
7. เขียนบรรณานุกรม คือการทำรายการหนังสือประกอบการเขียนรายงาน โดยจัดเรียงให้ถูกต้องตามลำดับการเขียนบรรณานุกรม
8. อ่านตรวจทาน และแก้ไข
9. เข้ารูปเล่มรายงาน โดยจัดเรียงส่วนต่างๆ ของรายงาน ตั้งแต่ปกนอก ปกใน คำนำ สารบัญ เนื้อเรื่อง บรรณานุกรม ภาคผนวก อภิธานศัพท์ ปกหลัง ให้ถูกต้อง

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว