งานเขียนประเภทชักจูงโน้มน้าวใจ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้อ่านเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ รวมถึงพฤติกรรมในเรื่องนั้นๆ ให้ตรงกับผู้เขียน เราอาจแบ่งงานเขียนประเภทชักจูงโน้มน้าวใจได้เป็น 3 รูปแบบคือ คำเชิญชวน คำโฆษณาสินค้า และคำโฆษณาชวนเชื่อ โดยมีลักษณะการใช้ภาษาที่นุ่มนวล แต่ไม่ค่อยสมเหตุสมผล
รูปแบบงานเขียนประเภทชักจูงโน้มน้าวใจ
การโน้มน้าวใจเป็นพฤติกรรมกลางๆ ที่ทุกคนต้องใช้ในบางสถานการณ์ จะเป็นไปด้วยเจตนาดี หรือไม่ดีก็ได้ ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่ต้องการ สำหรับงานเขียนประเภทชักจูงโน้มน้าวใจ เราอาจแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้
1. คำเชิญชวน เป็นข้อความเสนอแนะให้ร่วมกันทำอะไรอย่างหนึ่ง โดยมีการกล่าวถึงจุดประสงค์ รวมถึงวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน เช่น เชิญชวนให้ร่วมทำบัญ เชิญชวนให้ร่วมประท้วง เป็นต้น
2. คำโฆษณาสินค้า หรือโฆษณาบริการ เป็นข้อความที่ชี้ให้เห็นว่าสินค้า หรือบริการของตน สามารถสนองความต้องการของผู้รับสารได้ โดยใช้ประโยคสั้นๆ แต่เป็นถ้อยคำสะดุดหู แต่มักขาดความสมเหตุสมผล ที่ถูกต้องทางวิชาการ
3. คำโฆษณาชวนเชื่อ ภาษาอังกฤษคือ Propaganda) เป็นข้อความที่มุ่งเปลี่ยนทัศนคติของคนจำนวนมากให้มีอุดมการณ์ หรือแนวคิดบางอย่าง โดยให้เหตุผลเพียงด้านเดียว คำโฆษณาชวนเชื่อมักเป็นเครื่องมือรณรงค์ทางการเมือง แต่ก็อาจทำด้วยเจตนาที่ดีได้ เช่น การรณรงค์ทางด้านสาธารณสุข
ลักษณะการใช้ภาษาในงานเขียนประเภทชักจูงโน้มน้าวใจ
งานเขียนประเภทชักจูงโน้มน้าวใจมักใช้ภาษาที่นุ่มนวล ดังนี้
- ไม่แสดงความเด็ดขาด เช่น การสั่ง การบังคับ การข่มขู่
- ชี้ให้เห็นประโยชน์ เวลาต้องการให้ปฏิบัติตาม
- ชี้ให้เห็นโทษ เวลาต้องการให้ไม่ปฏิบัติสิ่งใด
- เสนอแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้รู้สึกว่าทำได้ง่าย
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว