เมื่อเนื้อหาที่กำลังอ่าน มีความหมายที่ไม่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นเพราะความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจของผู้เขียนก็ตาม โดยเฉพาะคำจากเอกสารทางวิชาการ ซึ่งบางครั้งผู้เขียนไม่ได้นิยามความหมายเอาให้ชัดเจน ในกรณีเช่นนี้ เราอาจจะต้องทำการตีความด้วยตัวเอง ซึ่งการตีความนี้ จะต้องได้ความหมายที่สอดคล้องกับบริบทอื่นๆ ของเนื้อหานั้น เพราะโดยทั่วไป คนทุกคนควรจะมีความคิดที่ไปในทิศทางเดียวกัน
ในเอกสารวิชาการ เรามักจะพบคำที่ไม่คุ้นตา ถ้าไม่รู้ความหมาย เราสามารถใช้พจนานุกรม ปทานุกรม หรือศัพทานุกรม ช่วยหาความหมายของคำนั้นๆ ได้ แต่ในบางครั้ง ผู้เขียนอาจจะใช้ในความหมายแฝง ที่ลึกซึ่งกว่าความหมายตามพจนานุกรม หรือตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป เราจึงต้องใช้การตีความ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
1. อ่านอย่างละเอียด เพื่อให้ไม่ขาดตกบกพร่องเนื้อหาส่วนใดไป
2. สรุปใจความสำคัญ คือการวิเคราะห์ว่าเนื้อหาเป็นเรื่องอะไร เพื่อให้สามารถกำหนดกรอบความคิด หรือเป้าหมายในการเขียนของผู้เขียนได้
3. ตีความคำที่ไม่ชัดเจนที่พบ อาจเป็นความคำที่เป็นสัญลักษณ์ หรือเป็นการกล่าวเปรียบเทียบ ว่าผู้เขียนน่าจะกำลังหมายถึงความหมายใด จึงจะสอดคล้องสัมพันธ์กับใจความสำคัญที่วิเคราะห์ไว้ในขั้นตอนที่ 2 และสอดคล้องสัมพันธ์กับบริบทอื่นๆ ทั้งหมดในเนื้อหานั้น
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว