การอ่านจับใจความสำคัญ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 3.5K views



อ่านได้ กับ อ่านเป็น แตกต่างกันในความหมาย อ่านได้คืออ่านหนังสือออก เป็นการอ่านทั่วๆ ไป แต่อ่านเป็นคืออ่านแล้วต้องวิเคราะห์ แยกแยะ และจับประเด็น หรือจับใจความสำคัญได้ ซึ่งยากกว่า มีกระบวนการมากกว่านั่นเอง

ภาพ : shutterstock.com

 

ในการอ่านเป็นนั้น เราต้องมีความตั้งใจ มีสมาธิจดจ่อกับเรื่องที่อ่าน อาจมีการจดบันทึกใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้าไว้ ให้รู้ว่ามีใคร? ทำอะไร? ที่ไหน? เมื่อไร? อย่างไร? แล้วก็นำสิ่งที่จดบันทึกไว้มาเขียนใหม่ เป็นสำนวนของเราเองตามที่เราเข้าใจ

 

ใจความสำคัญ หรือ ความสำคัญของใจความ

เมื่ออ่านอะไรก็ตามแล้ว เราเกิดมองเห็นว่าข้อความใดที่สำคัญที่สุด อาจจะในประโยค ในย่อหน้า หรือทั้งบทความ ข้อความนั้นก็คือ พระเอก หรือใจความสำคัญนั่นเอง ตัวอย่างเช่น ข้อความ “เมื่อเย็นวานฝนตกลงมาเพียง 2 ชั่วโมง ถนนใน กทม. ก็เจิ่งนองไปด้วยน้ำ” ใจความสำคัญก็คือ “ฝนตกน้ำท่วม” แค่นั้นเอง

ตามหลักการเขียนที่ดี ในหนึ่งย่อหน้าควรจะมีประเด็นสำคัญเพียงหนึ่งเดียว นั่นจึงทำให้ในหนึ่งย่อหน้า ควรจะมีใจความสำคัญเพียงประโยคเดียว โดยมี ใจความรอง หรือ พลความ (อ่านว่า พน-ละ ความ) เป็นพระรองของย่อหน้า ทำหน้าที่บอกรายละเอียดของเนื้อความ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผล หรือเป็นข้อเปรียบเทียบก็ได้ เพื่อสนับสนุนใจความหลัก

 

วิธีอ่านจับใจความหลัก

เวลาอ่านหนังสือ เราอาจจะใช้ดินสอขีดเส้นใต้ไว้ที่ข้อความสำคัญ แต่เพื่อไม่ให้หนังสือเสียหายในกรณีที่ไม่ใช่หนังสือของเรา เราก็ใช้วิธีจดบันทึกใส่กระดาษไว้ แล้วค่อยนำมาเรียบเรียงใหม่ โดย

1. เลือกเฉพาะประโยคใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้า
2. ตัดส่วนที่เป็นคำพูดของผู้เขียน ซึ่งอาจจะเป็นสำนวน โวหาร หรือความเห็นออกไป แล้วนำมาเขียนใหม่เป็นสำนวนของเราเอง

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว