การแต่งโคลงสี่สุภาพให้ถูกต้องสมบูรณ์นั้น แต่งได้ค่อนข้างยาก เพราะบางครั้งต้องรักษาเนื้อความไว้ จึงอนุโลมให้ใช้คำที่บังคับรูปวรรณยุกต์เอก หรือโทตรงตามแผนผังฉันทลักษณ์อย่างเคร่งครัด ส่วนคำอื่นที่มิได้บังคับรูปวรรณยุกต์ จะใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์หรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับเนื้อความในโคลง
โคลงสี่สุภาพ เป็นโคลงชนิดหนึ่งที่กวีนิยมแต่งมากที่สุด ด้วยเสน่ห์ของการบังคับวรรณยุกต์เอกโทที่ลงตัว ไพเราะสวยงาม คำว่า สุภาพ หมายถึงคำที่มิได้มีรูปวรรณยุกต์
โคลงสี่สุภาพ มีมาตั้งแต่สมัยต้นอยุธยาในมหาชาติคำหลวง โคลงนิราศหริภุญชัย โคลงมังทราตีเชียงใหม่ และลิลิตพระลอ โคลงนิราศพระบาท กาพย์ห่อโคลงพระราชนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร
สมัยธนบุรี ได้แก่ โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี และลิลิตเพชรมงกุฎ
สมัยรัตนโกสินทร์ วรรณกรรมที่ใช้โคลงสี่สุภาพที่เด่นๆ ได้แก่ ลิลิตตะเลงพ่าย โคลงนิราศนรินทร์ โคลงนิราศสุพรรณ โคลงโลกนิติ สามกรุง
โคลงสี่สุภาพเป็นคำประพันธ์ที่กวีชอบแต่ง และผ่านการพัฒนามายาวนานจนมีฉันทลักษณ์ที่ลงตัว และเป็นแบบฉบับดังที่ยึดถือกันในปัจจุบัน
แผนผังโคลงสี่สุภาพ
เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ ถามเผือ
ลักษณะบังคับของโคลงสี่สุภาพ
1. คณะ
โคลงสี่สุภาพ 1 บทมี 4 บาท โดย 1 บรรทัดคือ 1 บาท แต่ละบาทมี 2 วรรค
บาทที่ 1 บาทที่ 2 และบาทที่ 3 มีจำนวนคำเท่ากัน คือ วรรคหน้ามี 5 คำ ส่วนวรรคหลังมี 2 คำ
บาทที่ 4 วรรคหน้ามี 5 คำเช่นกัน แต่วรรคหลังจะมี 4 คำ
รวมทั้งสิ้น 1 บทจะมี 30 คำ
2. คำสร้อย
คำสร้อย คือคำที่แต่งท้ายบาทของโคลงตามข้อบังคับ เพื่อทำให้ได้ใจความครบถ้วน ถ้าโคลงบาทใดได้ความครบถ้วนแล้ว ก็ไม่ต้องเติมคำสร้อย
ตำแหน่งที่กำหนดให้เติมคำสร้อยคือ ท้ายบาทที่ 1 และท้ายบาทที่ 3
คำสร้อยต้องมีแห่งละ 2 คำเสมอ โดยคำแรกเป็นคำสุภาพที่ต้องการเสริมความให้สมบูรณ์ ส่วนคำหลังมักลงท้ายด้วยคำต่อไปนี้ “พ่อ แม่ พี่ รา แล เลย เอย นา นอ เนอ ฤๅ ฮา แฮ เฮย” และมีอีกคำหนึ่งที่พบในโคลงโบราณ คือคำว่า “บารนี” ซึ่งใช้คำสร้อยได้ครบพยางค์โดยไม่ต้องเติมคำอื่น
3. คำสัมผัส เอก โท และ คำตาย
โคลงสี่สุภาพบังคับรูปวรรณยุกต์ เอก โท คือ บังคับรูปวรรณยุกต์เอก 7 ตำแหน่ง รูปวรรณยุกต์โท 4 ตำแหน่ง (ตามแผนผัง)
ในการแต่งโคลงสี่สุภาพ บางครั้งเมื่อไม่สามารถหาคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอก หรือรูปวรรณยุกต์โทมาใช้ในที่บังคับวรรณยุกต์ตามแผนผังได้ จำเป็นต้องใช้คำ “เอกโทษ” หรือคำ “โทโทษ” คือ นำคำที่ต้องการใช้ไปเปลี่ยนให้เป็นรูปวรรณยุกต์เอก หรือโท แต่ถ้าไม่จำเป็นอย่างยิ่งแล้วก็ไม่ควรใช้ เพราะทำให้รูปคำเสีย และความหมายอาจเปลี่ยนไป
เช่น ใช้คำว่า “ข้า” แทนคำว่า “ฆ่า” เป็นต้น และในอีกกรณีหนึ่งคือ คำเอกและคำโทที่อยู่ติดกัน บางครั้งอาจสลับที่กันก็ได้
ในโคลงสี่สุภาพนั้น มีการใช้เสียง “คำตาย” แทนวรรณยุกต์เอกได้ทุกแห่งที่บังคับรูปวรรณยุกต์เอก ไม่ว่าคำตายนั้นๆ จะมีเสียงวรรณยุกต์ใด อาจเป็นคำตายเสียงเอก เช่น บาด จิต หรือคำตายเสียงโท เช่น วาด ภาพ หรือคำตายเสียงตรี เช่น พบ รัก เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว