ศัพท์ทางวิชาการและวิชาชีพ คือ ศัพท์เฉพาะที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในศาสตร์แขนงต่างๆ จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจความหมาย บางครั้งเรียกสั้นๆ ว่า ศัพท์วิชาการ
คำศัพท์ทางวิชาการ หมายถึง คำศัพท์ที่ใช้เฉพาะวงการวิชาการ หรือวงการอาชีพ ส่วนมากจะพบในงานเขียนทางวิชาการ เช่น ตำรา บทความ หนังสืออ้างอิง หรือในการประชุมทางวิชาการ เช่น การอภิปราย การสัมมนา มักเป็นคำที่ผู้ศึกษาวิชาการนั้นๆ เข้าใจร่วมกันอย่างดี ส่วนผู้ที่ไม่ได้ศึกษาอาจไม่เข้าใจ
ในการบัญญัติศัพท์ทางวิชาการ ราชบัณฑิตยสถานจะต้องใช้ผู้รู้ในวงการวิชาการนั้นๆ เช่น การแพทย์ วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ มาช่วยในการบัญญัติศัพท์
ลักษณะของศัพท์วิชาการ
1. ใช้ในทางวาทกรรมวิชาการ
2. มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน
3. คำจำกัดความของศัพท์วิชาการอาจแตกต่างกันตามบริบท
4. มักเป็นคำสำคัญ (Keyword)
ตัวอย่างศัพท์วิชาการในสาขาต่างๆ
- ศัพท์สาขาวิทยาศาสตร์ เช่น คลอโรฟีลล์ การสังเคราะห์ด้วยแสง เซลล์ ฯลฯ
- ศัพท์ในวงการแพทย์ เช่น โคม่า ไอซียู โอพีดี อายุรแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ศัลยแพทย์ ฯลฯ
- ศัพท์ในวงการศึกษา เช่น ความคิดรวบยอด แผนการจัดการเรียนรู้ หน่วยกิต เทอม ฯลฯ
- ศัพท์วิชาการทั่วไป เช่น สารเสพติด โรคพิษสุราเรื้อรัง ฯลฯ
- ศัพท์ทางคณิตศาสตร์ เช่น เอกนาม พหุนาม ทฤษฎีบท สัจพจน์ จำนวนอตรรกยะ รากที่สอง ฯลฯ
- ศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ เช่น อุปสงค์ อุปทาน หุ้น ผู้ผลิต ผู้บริโภค เงินเฟ้อ ฯลฯ
- ศัพท์ในวงการธุรกิจ เช่น หุ้นบุริมสิทธิ์ ธุรกรรม งบดุล ไตรมาส ฯลฯ
- ศัพท์สาขากฎหมาย เช่น กระทงความ ลูกขุน ทนาย แก้ต่าง อาญาแผ่นดิน ไต่สวน วินิจฉัย ฯลฯ
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว