คำทับศัพท์ และคำศัพท์บัญญัตินั้น มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ คำทับศัพท์ หมายถึง คำที่ถ่ายเสียงมาจากรูปคำในภาษาอื่น และนำมาเขียนในรูปแบบของภาษาไทย เพื่อให้คนที่ใช้ภาษาสามารถออกเสียงได้อย่างถูกต้อง ส่วนคำศัพท์บัญญัติ หมายถึง คำที่บัญญัติขึ้นเพื่อใช้แทนคำต่างประเทศ
ไทยมีความสัมพันธ์กับต่างชาติ จากการติดต่อทำการค้า การทูต การสอนศาสนา ศิลปวัฒนธรรมมาช้านาน จึงมีการยืมคำภาษาต่างประเทศมาใช้ อาจด้วยวิธีการทับศัพท์หรือสร้างคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาใช้ ทั้งในวงวิชาการและทั่วไป การศึกษาเรื่องการใช้คำในภาษาไทย จะช่วยให้สามารถใช้คำทับศัพท์และศัพท์บัญญัติต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง
การยืมคำภาษาต่างประเทศมาใช้ในภาษาไทยมี 2 วิธีคือ ใช้คำในภาษานั้นเลย ที่เรียกว่า “คำทับศัพท์” และการบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่ ที่เรียกว่า “ศัพท์บัญญัติ”
คำทับศัพท์
คือคำที่ถ่ายเสียงมาจากรูปคำในภาษาอื่น และนำมาเขียนในรูปแบบของภาษาไทย เพื่อให้คนที่ใช้ภาษาสามารถออกเสียงได้อย่างถูกต้อง หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับภาษาเดิม บางคำก็ใช้ตามความสะดวกปากในการออกเสียง จนแทบจะกลมกลืนกับภาษาไทย คำทับศัพท์นั้นยืมมาจากภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น ทมิฬ เปอร์เซียร์ อาหรับ ญี่ปุ่น โปรตุเกส ฝรั่งเศส ฮินดี พม่า มอญ
หลักเกณฑ์การทับศัพท์
1. ถอดอักษรในภาษาเดิมพอควรแก่การแสดงที่มาของรูปศัพท์
2. เขียนในรูปที่อ่านได้สะดวกในภาษาไทย
3. คำทับศัพท์ที่ใช้มานานให้ใช้แบบเดิม เช่น เชิ้ต ก๊าซ แก๊ส
4. ถ้าตัว T อยู่หน้าคำแทน ตัว “ท” ถ้าตัว T อยู่ท้ายคำแทน ตัว “ต”
5. ถ้าตัว P อยู่หน้าคำแทน ตัว “พ” ถ้าตัว P อยู่ท้ายคำแทน ตัว “ป”
ศัพท์บัญญัติ
คือคำที่บัญญัติขึ้นใหม่ในภาษาไทย โดยราชบัณฑิตยสถานเป็นผู้รับรอง เพื่อรองรับศัพท์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตามเทคโนโลยีและความก้าวหน้าด้านต่างๆ ของโลก ซึ่งมักจะเป็นคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ
การบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่มีหลัก 2 ประการ คือ
1. สร้างคำขึ้นมาใหม่ อาจจะใช้การแปลความหมายจากศัพท์เดิม หรือหาคำใหม่มาแทน เช่น
ภาษาอังกฤษ |
ศัพท์ที่บัญญัติใหม่ |
Frost |
น้ำค้างแข็ง |
Network |
เครือข่าย |
Submarine |
เรือดำน้ำ |
Boy scout |
ลูกเสือ |
Acid rain |
ฝนกรด |
2. ถ้าหาคำไทยที่เหมาะสมไม่ได้ ก็สร้างคำใหม่โดยใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤต บางคำอาจใช้วิธีผูกคำแบบคำสมาสก็ได้ ซึ่งต้องเป็นคำที่มีใช้มาก่อน และสามารถออกเสียงได้ง่าย
ภาษาอังกฤษ |
ศัพท์ที่บัญญัติใหม่ |
Theory |
ทฤษฎี |
Activity |
กิจกรรม |
Science |
วิทยาศาสตร์ |
Radioactive |
กัมมันตรังสี |
University |
มหาวิทยาลัย |
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว