การพูดโน้มน้าวใจ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 212.6K views



การพูดเพื่อโน้มน้าวใจ เป็นการพูดให้ผู้ฟังคล้อยตามไปกับความคิดของผู้พูด ซึ่งต้องมีเหตุผลและหลักฐานที่น่าเชื่อถือประกอบ การพูดจึงจะสัมฤทธิผล การพูดโน้มน้าวเป็นการส่งสารให้ผู้ฟังมีความคิดเห็นและรู้สึกคล้อยตามผู้พูด ดังนั้น ผู้พูดจึงต้องมีคุณธรรม โน้มน้าวใจอย่างสมเหตุสมผล จริงใจ ผู้พูดจึงจะประสบความสำเร็จในการพูด และเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้พูดและผู้ฟัง

ภาพ : shutterstock

การพูดโน้มน้าวใจเป็นพฤติกรรมในการสื่อสารอย่างหนึ่ง ซึ่งมุ่งจะเปลี่ยนความคิดของคนฟังให้คล้อยตามความเห็นของเรา เป็นการใช้เหตุผลผ่านภาษา เพื่อเปลี่ยนความเชื่อ ทัศนคติ  ค่านิยม และการกระทำของบุคคลอื่น เพื่อให้เกิดการยอมรับและเปลี่ยนความคิดตามที่ผู้โน้มน้าวใจต้องการ

 

ภาษาเพื่อการโน้มน้าวใจ

ผู้โน้มน้าวใจควรใช้ภาษาที่มีน้ำเสียงในเชิงเสนอแนะ ขอร้อง วิงวอน เร้าใจ โดยคำนึงถึงจังหวะและความนุ่มนวล ผู้พูดต้องหาวิธีโน้มน้าวใจคนฟังให้เอนเอียงมาฝ่ายตน ให้ผู้ฟังเกิดศรัทธา ไม่ควรใช้คำพูดและน้ำเสียงเด็ดขาด แข็งกระด้าง หรือกล่าวตรงไปตรงมาในเชิงตำหนิ ไม่ควรใช้น้ำเสียงในลักษณะของคำสั่ง หรือการแสดงอำนาจซึ่งจะกระทบกระเทือนใจผู้รับสาร ทำให้การโน้มน้าวใจไม่บรรลุผลตามต้องการ

 

วิธีการพูดโน้มน้าวใจ

การพูดโน้มน้าวใจก็เหมือนกับการพูดในที่ชุมชนประเภทอื่นๆ นั่นคือ จะต้องมีการเตรียมตัวและมีการดำเนินการต่างๆ ให้พร้อมดังนี้

1. กำหนดจุดมุ่งหมายในการพูดให้ชัดเจน นักเรียนจะต้องกำหนดจุดมุ่งหมายให้ชี้เฉพาะว่าในการพูดครั้งนี้ต้องการให้ผู้ฟังเกิดการ เปลี่ยนแปลงอะไร หรือต้องการเชิญชวนให้ผู้ฟังกระทำการอย่างใด เพื่อจะได้เตรียมเนื้อหาและวิธีการพูดให้สอดคล้องกับความต้องการนั้น

2. การจัดลำดับเนื้อหาที่จะพูด เนื้อหาสาระที่จะพูดนี้ ควรจะจัดวางให้เป็นระบบ และเรียงลำดับขั้นตอน เช่นเดียวกับวิธีการพูดแบบอื่นๆ แต่มีความพิเศษ คือ

      - บทนำ พูดในลักษณะของการเรียกร้องและดึงดูดความสนใจ เช่น

           “ท่านผู้มีเกียรติคะ ดิฉันว่า ดินที่ขาดป่า ฟ้าที่ขาดฝน คนที่ขาดใจ มีความหมายฉันใดการที่มนุษย์ขาดป่าไม้ก็มีความหมายฉันนั้น ป่าไม้จึงเป็นหัวใจของมนุษย์ แต่ทว่าวันนี้มนุษย์กำลังทำลายหัวใจนั้น นี่เราจะฆ่าตนเองใช่หรือไม่”

      - เนื้อเรื่อง เป็นส่วนสำคัญที่สุด นักเรียนควรเลือกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ หรือเป็นประโยชน์ของผู้ฟัง ไม่ควรนำเรื่องไกลตัวมาพูดโน้มน้าวใจ เพราะอยู่ห่างจากความสนใจ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่กกำลังเป็นปัญหาร่วมกันของคนในสังคม จะยิ่งกระตุ้นผู้ฟังได้มาก การพูดโน้มน้าวใจนั้นควรเริ่มจากการสร้างความสนใจ ทำให้เห็นว่าเป็นความจำเป็น แล้วให้ข้อแนะนำที่มองเห็นได้ชัดเจน สามารถปฏิบัติตามได้ แล้วจบลงด้วยการขอร้องวิงวอนหรือเชิญ ชวนให้กระทำตาม

       - บทสรุป เป็นการพูดปิดท้ายที่เน้นย้ำให้ผู้ฟังเปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนทัศนคติ โดยต้องไม่หลงประเด็นที่เรากำหนดไว้ อาจจะจบด้วยคำประพันธ์ หรือวาทะคำคมที่กินใจตราตรึงในใจของ ผู้ฟัง เช่น

           “ป่าไม้คือชีวิต โปรดอย่าคิดทำลาย มาเถอะค่ะ มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ยุติการทำลายธรรมชาติ หันหน้ามาช่วยรักษาผืนดิน น้ำ และป่าไม้ เพื่อเป็นสมบัติส่วนกลางที่ทุกชีวิต จะได้พึ่งพิงต่อไป วันนี้ ดิฉันได้เริ่มลงมือปลูกป่าแล้ว ท่านล่ะคะ เริ่มต้นหรือยัง”

3. วิธีการพูด นักเรียนควรแสดงความกระตือรือร้นในการพูด พูดอย่างคล่องแคล่ว ไม่ติดขัด เน้นเสียงให้หนัก แน่น จริงจัง และใช้การพูดในทำนองเชิญชวน หรือวิงวอนให้ปฏิบัติตามมากกว่าการบังคับและการใช้สีหน้า สายตา ท่าทางที่จริงจัง และมีเหตุผล ที่จะสามารถจูงใจผู้ฟังให้เชื่อถือคล้อยตามได้ดี


เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว