การอภิปราย เป็นแบบการพูดซึ่งมีลักษณะคล้ายการสนทนา แต่การอภิปรายแตกต่างกับการสนทนาในลักษณะสำคัญคือ การอภิปรายมีความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแน่นอน
การอภิปราย มีลักษณะคล้ายการสนทนา แต่การอภิปรายมีความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแน่นอน เช่น การตัดสินใจหรือการแก้ปัญหาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ส่วนการสนทนาโดยทั่วไปไม่ได้กำหนดเรื่องที่จะสนทนาไว้ก่อน และอาจเปลี่ยนเรื่องไปได้ต่างๆ สุดแต่เหตุการณ์ โดยการอภิปรายประกอบด้วย ผู้พูด ผู้ฟัง หัวข้อเรื่อง และสถานที่
หน้าที่ของผู้ดำเนินการอภิปราย
การอภิปรายจะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับผู้ดำเนินการอภิปราย ซึ่งหน้าที่ของผู้ดำเนินการอภิปราย ได้แก่
1. กล่าวแนะนำผู้ร่วมอภิปรายให้ผู้ฟังรู้จักอย่างย่อๆ
2. กล่าวชื่อเรื่องที่จะอภิปรายและกำหนดเวลาการอภิปราย
3. เชิญผู้อภิปรายพูดให้ทั่วถึงกัน คอยรักษาเวลาการพูดให้อยู่ในกำหนด
4. เข้าใจเรื่องที่จะอภิปรายอย่างดี ประชุมปรึกษาหารือวางแผนการพูดไว้ล่วงหน้า
5. ช่วยสรุปการพูดอภิปรายของแต่ละคนและเชื่อมโยงไปยังผู้อภิปรายแต่ละคนได้
6. คอยเพิ่มเติมหรือสรุปเรื่องอภิปรายให้ผู้ฟังเข้าใจดียิ่งขึ้น
7. คอยแจกคำถามของผู้ฟังให้ผู้อภิปราย
หน้าที่ของผู้อภิปราย
เมื่อมีผู้ดำเนินการอภิปรายที่ดีคอยควบคุมบรรยากาศของการอภิปราย ที่เปรียบเสมือนกรรมการฟุตบอลที่ทำให้เกมไหลลื่น และช่วยควบคุมอารมณ์ของผู้เล่นฉันใด เกมจะสนุกก็อยู่ที่นักฟุตบอลที่ต่างแสดงฝีเท้าการเล่นฟุตบอลที่เร้าใจฉันนั้น เปรียบกับผู้อภิปรายที่ต่างก็ให้ข้อมูลหักล้างกันอย่างชัดเจน ตรงประเด็น หน้าที่ของผู้อภิปรายโดยสรุปจึงมีดังต่อไปนี้
1. เข้าใจเนื้อเรื่องที่จะพูดเป็นอย่างดี เตรียมตัวมาอย่างดี
2. ประชุมปรึกษาหารือกับคณะผู้อภิปราย แบ่งหัวข้อตามความถนัดของตน
3. รักษาเวลาในการพูดให้เคร่งครัดเสมอและตรงต่อการนัดหมาย
4. ใช้ภาษาพูดที่กะทัดรัด ชัดเจน
5. รักษามรรยาทที่ดีในการพูด เช่น กิริยาท่าทาง สีหน้า และการควบคุมอารมณ์
6. ผู้อภิปรายควรเปิดโอกาสให้ผู้อื่นพูดบ้าง ไม่พูดมากเสียคนเดียว
7. เพิ่มเติมเนื้อเรื่องบางตอนหากเห็นว่าผู้อภิปรายยังพูดไม่สมบูรณ์
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว