การพูดแสดงความคิดเห็น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 15.2K views



ความคิดเห็นของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ การศึกษา การอบรม ค่านิยม และนิสัยใจคอของแต่ละคน การพูดแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้างนั้น มีประโยชน์เพราะจะช่วยให้มีโอกาสใช้ดุลพินิจก่อนตัดสินใจ

ภาพ : shutterstock.com

 

การฟัง และการดู เป็นทักษะทางภาษาที่สำคัญในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยเราอาจได้รับสารจากบุคคล หรือจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อาจรับสารด้วยวิธีการฟัง หรือการดูในลักษณะการสื่อสารทางเดียวหรือการสื่อสารแบบตอบโต้ก็ได้ จุดมุ่งหมายของการฟังและการดูอาจเป็นได้ดังนี้

1. เพื่อความเพลิดเพลิน เป็นการฟังและดูเพื่อความสนุกสนาน ผ่อนคลาย และคล้อยตามไปกับเรื่องที่ฟังและดู เช่น ฟังและดูดนตรี นิยาย ละคร บทร้อยกรอง

2. เพื่อรับความรู้ เป็นทักษะที่ผู้รับสารใช้มากที่สุดในชีวิตประจำวัน ฟังครูอธิบาย ผู้ฟังต้องฝึกทักษะการจับใจความ และฝึกการบันทึกช่วยจำ

3. เพื่อได้คติชีวิตและความจรรโลงใจ เป็นการฟังเพื่อเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ เพื่อกลั่นกรองความรู้ ความคิดเหล่านั้นมาเป็นองค์ความรู้ของตนเอง

4. เพื่อติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน เป็นการฟังและการดูที่ต้องใช้สติปัญญา และวิจารณญาณ ตลอดจนทักษะในการตัดสินใจ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างฉับไว

 

การแสดงความคิดเห็น

เมื่อเราได้รับสารจาการฟัง หรือการดู เราอาจมีความคิดบางอย่างต่อสารนั้น เรียกว่า ความคิดเห็น ซึ่งหมายถึง ความรู้สึกนึกคิด และข้อสันนิษฐานที่เรามีต่อข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ ส่วนการแสดงความคิดเห็น คือ การแสดงความรู้สึกนึกคิด และข้อสันนิษฐานนั้นออกมาให้ผู้อื่นรับรู้อีกที

การแสดงความคิดเห็นที่ดี ต้องเลือกแสดงความคิดเห็นที่มีประโยชน์และสร้างสรรค์ มีเจตนาดีต่อบุคคลในสังคมและส่วนรวม และก็ควรมีมารยาททางสังคมด้วย เพื่อมิให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อกันโดยไม่จำเป็น โดยแนวทางมารยาทในการแสดงความคิดเห็น มีดังนี้

1. ภาษาในการแสดงความคิดเห็นต้องเป็นภาษาสุภาพ ชัดเจน เข้าใจง่าย เลือกใช้ถ้อยคำให้มีความหมายตรงตามที่คิด มีความสมเหตุสมผล ตรงประเด็น ตรงตามหัวข้อที่กำหนด ไม่ออกนอกเรื่อง

2. ข้อมูลหลักฐานที่นำมาใช้ประกอบความคิดเห็นต้องเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่ข้อมูลเท็จหรือมีจุดประสงค์เพื่อหลอกลวง

3. ควรใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล แต่หนักแน่น น่าเชื่อถือ ไม่พูดเสียงดังเกินไป ไม่ห้วนหรือกระด้าง ไม่แสดงอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจ

4. ใช้กิริยาท่าทางที่สุภาพ ไม่แสดงท่าทางก้าวร้าว เช่น ยืนเท้าเอว ชี้หน้าอีกฝ่าย หรือทุบโต๊ะ เป็นต้น

5. ไม่พูดเพื่อเอาชนะ ต้องใช้เหตุผลเป็นสำคัญ ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ และยอมรับฟังเมื่อเหตุผลของอีกฝ่ายหนักแน่นและถูกต้องกว่า

6. เป็นผู้ฟังที่ดีด้วย ตั้งใจฟัง ไม่พูดแทรก หรือพูดขัดจังหวะในขณะที่ผู้อื่นกำลังพูดแสดงความคิดเห็นกลับมา

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว