การเขียนนั้นมีจุดประสงค์ต่างๆ มากมาย เช่น การเขียนอธิบาย การเขียนชี้แจง การเขียนต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องเขียนให้เข้าใจ ชัดเจน และมีเหตุผล
การเขียนอธิบาย
เป็นการเขียนสื่อสารให้เกิดความเข้าใจกระจ่างแจ้งในเรื่องเรื่องหนึ่ง โดยผู้เขียนต้องเขียนให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน ได้แก่ การยกตัวอย่าง การให้นิยาม การขยายความโดยให้เหตุผล เป็นต้น
ตัวอย่างการเขียนอธิบายโดยการยกตัวอย่าง
“ปรากฏการณ์ธรรมชาติคือ การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ทั้งในระยะยาวและระยะสั้น สภาพแวดล้อมของโลกเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ทั้งเป็นระบบและไม่เป็นระบบ เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ไฟไหม้ป่า น้ำท่วม ภูเขาถล่ม แผ่นดินไหว”
ตัวอย่างการเขียนอธิบายโดยใช้นิยาม
“ผ้าเช็ดหน้า หมายถึง ผืนผ้ารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำขึ้นอย่างประณีต มีขนาดพอเหมาะ มีหลากสี สำหรับใช้ติดตัวเพื่อประโยชน์ต่างๆ เช่น ใช้เช็ดหน้า ใช้ซับเหงื่อ หรือเหน็บกระเป๋าเพื่อความสวยงาม”
การเขียนชี้แจง
เป็นการเน้น ขยายความ และให้รายละเอียด การเขียนชี้แจงมักมีสาเหตุ หรือประเด็นเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น การเขียนชี้แจงเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด การเขียนชี้แจงเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย เป็นต้น ประเภทของการชี้แจงมีดังนี้
1. การเขียนเน้นย้ำ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ควรตั้งจุดมุ่งหมายในการชี้แจงให้ชัดเจน เช่น คำชี้แจงในการสอบ
2. คำชี้แจงเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด เป็นการอธิบายล่วงหน้า เช่น การป้องกันไข้เลือดออก
3. การชี้แจงเพื่อแก้ไขการเข้าใจผิด ต้องอธิบายให้ละเอียด รวมทั้งยกหลักฐานอ้างอิง ต้องใช้คำสุภาพ ไม่ควรใช้ข้อความที่แสดงความรู้สึกในทางลบ
การเขียนแสดงความคิดเห็น
เป็นการเขียนที่สื่อความรู้สึก และค่านิยมของบุคคลต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาจจะเขียนเป็นบทความหรือสารคดีก็ได้ การเขียนแสดงความคิดเห็นที่ดีควรมีลักษณะ ดังนี้
1. กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัด
2. ลำดับความคิดให้ดี
3. เรียบเรียงถ้อยคำให้ดี
การเขียนโต้แย้ง
เป็นการเขียนเพื่อแสดงทรรศนะที่ต่างกัน จะต้องมีข้อมูล สถิติ หรือเหตุผลต่างๆ มาสนับสนุนความคิดเห็นของเรา การเขียนโต้แย้งที่ดีควรมีลักษณะ ดังนี้
1. กำหนดประเด็นการโต้แย้งให้ชัดเจน
2. ค้นหาและเรียบเรียงข้อมูลในการสนับสนุนทรรศนะของตน ซึ่งต้องมีข้อสนับสนุนเพียงพอ มีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ และต้องตรงประเด็น
3. ชี้ให้เห็นจุดอ่อนและความผิดพลาดของทรรศนะฝ่ายตรงข้าม
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว