การเขียนย่อความ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 368.2K views



การย่อความมีความสำคัญในชีวิตประจำวันทั้งในทางตรง และทางอ้อม เพราะในชีวิตบุคคลทั่วไป มีโอกาสและความจำเป็นที่จะต้องย่อสิ่งที่ฟังหรืออ่าน เพื่อเก็บสาระและจดจำหรือไว่เป็นความรู้ หรือนำไปใช้ประโยชน์

ภาพ : shutterstock.com

การย่อความ คือ การเก็บใจความสำคัญของเรื่องจากข้อความที่อ่านหรือฟัง แล้วนำสาระสำคัญมาเรียบเรียงใหม่ให้สั้นด้วยภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย ได้ความถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์มากหรือน้อยแล้วแต่ต้องการ เช่น ย่อเรื่องจากหนังสือทั้งเล่มให้เหลือเพียง 1-2 หน้า ย่อบทความที่มีความยาว 5 หน้าเหลือเพียงครึ่งหน้า เป็นต้น

ในการย่อความ ผู้อ่านต้องจับประเด็นสำคัญให้ได้ครบถ้วน งานเขียนแต่ละเรื่องประกอบด้วยย่อหน้าหลายๆ ย่อหน้า แต่ละย่อหน้าประกอบด้วยประโยคหลายประโยค ตามปรกติย่อหน้าแต่ละย่อหน้าจะมีทั้งใจความ และพลความ

ใจความ คือ ประโยคหรือข้อความสำคัญของย่อหน้า ถ้าตัดออกจะเสียความหรือความเปลี่ยนไป ทำให้ผู้อ่านผู้ฟังไม่เข้าใจหรือเข้าใจเรื่องผิดได้ ประโยคใจความสำคัญอาจอยู่ต้นย่อหน้า กลางย่อหน้า ท้ายย่อหน้า หรืออยู่ทั้งตอนต้น และตอนท้ายย่อหน้าก็ได้

พลความ คือ ประโยคหรือข้อความที่เป็นส่วนขยายความ ทำหน้าที่ขยายใจความให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น หากตัดส่วนประกอบส่วนนี้ ก็ยังเข้าใจเนื้อความสำคัญอยู่ ข้อความที่ขยายใจความสำคัญมีหลายลักษณะ

 

วิธีการเขียนย่อความ

1. อ่านเรื่องที่จะย่อความให้จบอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อให้ทราบว่าเรื่องนั้นกล่าวถึงใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร และผลเป็นอย่างไร
2. บันทึกใจความสำคัญของเรื่องที่อ่าน แล้วนำมาเขียนเรียบเรียงใหม่ด้วยสำนวนของตนเอง
3. อ่านทบทวนใจความสำคัญที่เขียนเรียบเรียงแล้ว จากนั้นแก้ไขให้สมบูรณ์ ตัดข้อความที่ซ้ำซ้อนกันออก เพื่อให้เนื้อหากระชับ
4. เขียนย่อความให้สมบูรณ์ โดยเขียนแบบขึ้นต้นของย่อความตามรูปแบบของประเภทข้อความนั้นๆ เช่น การย่อนิทาน การย่อบทความ
5. การเขียนย่อความไม่นิยมใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 บุรุษที่ 2 แต่จะใช้สรรพนามบุรุษที่ 3 และไม่เขียนโดยใช้อักษรย่อ นอกจากนี้ หากมีการใช้คำราชาศัพท์ต้องเขียนให้ถูกต้อง ไม่ตัดทอนแก้ไข

 

รูปแบบของการเขียนย่อความ

สิ่งที่นำมาย่อความนั้น เป็นได้ทั้งงานเขียนประเภทต่างๆ เช่น ข้อเขียนในหนังสือ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ และข้อความที่ได้ฟังมา เช่น ข้อความที่ได้ฟังจากวิทยุ โทรทัศน์ และการอภิปราย ฯลฯ การย่อความจึงต้องมีคำนำ และที่มา เพื่ออธิบายประเภทของเรื่องที่นำมาย่อนั้น ดังนั้น ย่อความจึงประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ

1. ส่วนที่เป็นคำนำ ใช้เขียนนำเป็นย่อหน้าแรก มีจุดมุ่งหมายให้ทราบรายละเอียดว่า ย่อหน้านี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญๆ ดังนี้

      (ก) ลักษณะของเรื่องที่นำมาย่อ
      (ข) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้แต่ง
      (ค) แหล่งข้อมูล

2.) ส่วนที่เป็นใจความสำคัญของเรื่อง คือ ส่วนที่เป็นเนื้อความที่เรียบเรียงแล้ว เขียนติดต่อกันเป็นย่อหน้าเดียว ไม่ต้องย่อหน้าตามเรื่องเดิม แต่ถ้าเป็นบทร้อยกรองควรถอดความเป็นร้อยแก้วแล้วจึงย่อ

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว