การเขียนคำอวยพร คำขวัญ และโฆษณา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 45K views



ในชีวิตประจำวัน เรามักจะเจอคำอวยพร คำขวัญ หรือคำโฆษณาปรากฏอยู่บนสื่อต่างๆ มากมาย หากเราจำเป็นต้องเขียนคำอวยพร คำขวัญ หรือคำโฆษณาต่างๆ ด้วยตัวเองแล้ว เราจำเป็นต้องมีหลักการเขียนที่ดี คำอวยพร คำขวัญ หรือคำโฆษณาเหล่านั้นจึงจะสัมฤทธิ์ผล

ภาพ : shutterstock.com

การเขียนคำอวยพร

คำอวยพร คือ คำพูดแสดงความปรารถนาดีต่อกัน ตามปกติคนเรามักใช้คำอวยพรในชีวิตประจำวันในโอกาสต่างๆ เช่น เมื่อเราต้องจากกัน เมื่อต้องการส่งข่าวคราวถึงกันและกัน หรือใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น วันคล้ายวันเกิด วันขึ้นปีใหม่ การขึ้นบ้านใหม่ หรือเมื่อยามมีผู้ประสบเภทภัย เช่น ได้รับความเจ็บป่วย ได้รับอุบัติเหตุ นอกจากนี้คำอวยพรมักใช้ตอนท้ายของคำกล่าวต่อที่ประชุมในโอกาสต่างๆ

การเขียนคำอวยพรโดยทั่วๆ ไป มีส่วนประกอบ 4 ประการ คือ โอกาสที่จะอวยพร ความสัมพันธ์ระหว่างผู้อวยพรกับผู้รับพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประสาทพร และคำพร การเขียนคำอวยพรมีหลักการเขียน ดังนี้

1. แสดงความยินดีต่อโอกาสที่อวยพร
2. เท้าความสัมพันธ์กับผู้รับพร หรือคุณความดีของผู้รับพร ข้อความส่วนนี้อาจมีหรือไม่มีก็ได้
3. อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิศาสนาหรือคตินิยมเป็นผู้ประสาทพร เช่น พระรัตนตรัย พระผู้เป็นเจ้า หรือใช้เป็นกลางๆ ว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้รับพรเคารพนับถือ หรืออาจยกเอาคุณงามความดีเป็นสิ่งประสาทพรก็ได้
4. กล่าวถึงพรให้สอดคล้องกับโอกาสที่ให้ โดยทั่วไปมักได้แก่ ความเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนหรือการประกอบการงาน ความปราศจากอันตราย การพ้นจากความเจ็บป่วย

การเขียนคำขวัญ

คำขวัญ คือ ข้อความที่แต่งขึ้นเพื่อปลูกฝังค่านิยมที่ดีงาม เตือนใจให้ไม่เผลอกระทำความผิด เตือนให้คิดหรือปฏิบัติตนในเรื่องเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้แสดงอัตลักษณ์ขององค์กรใดองค์กรหนึ่งก็ได้

คำขวัญอาจออกตามวาระ เช่น คำขวัญวันเด็ก คำขวัญวันครู คำขวัญวันแม่แห่งชาติ หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน จนกว่าการดำเนินงานโดยใช้คำขวัญนั้นจะประสบความสำเร็จตามเป้าที่วางไว้ เช่น คำขวัญรณรงค์ขององค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ส่วนคำขวัญที่ใช้แสดงอัตลักษณ์ขององค์กรหรือหน่วยงานมักใช้ต่อเนื่องกันไปโดยไม่เปลี่ยนแปลง เช่น คำขวัญของโรงเรียน คำขวัญประจำจังหวัด

คำขวัญมักมีคุณสมบัติ 3 ประการ ดังนี้

- เป็นข้อความที่สั้น กระชับ โดยมากมักกำหนดให้มีคำไม่เกิน 15 คำ
- สื่อความคิดในทางสร้างสรรค์ คำที่ใช้มักเป็นคำที่แสดงคุณสมบัติที่ดี แสดงให้เห็นคุณค่าของชีวิต ธรรมชาติ คุณธรรม และความดีงาม
- มีจังหวะสละสลวย มีเสียงสัมผัสให้จดจำง่าย แต่ไม่ใช่บทร้อยกรอง

 

การเขียนคำขวัญมีหลักการเขียน ดังนี้

1. ใช้ถ้อยคำกะทัดรัด สละสลวย โดยเฉพาะคำที่มีสัมผัสคล้องจองกัน
2. มีความลึกซึ้งกินใจ มีความหมายในด้านดี
3. ใช้คำที่มีข้อคิดซึ่งเหมาะสมกับแต่ละโอกาส
4. ใช้ถ้อยคำหรือระดับภาษาให้เหมาะกับฐานะทางสังคมของผู้ให้และผู้รับ

ตัวอย่างคำขวัญ

กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัด วัง งามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย

เมื่อสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ชีวิตจะมีภัย

ขับรถให้เตือนตน ข้ามถนนให้เตือนตา

เมื่อใช้ยาเสพติด ชีวิตรอความตาย

บริจาคดวงตา ได้มหากุศล

ภูมิใจไทยทำ ดีใจไทยใช้

อ่านหนังสือวันละหน้า เพิ่มคุณค่าแก่ชีวิต

 การเขียนโฆษณา

 โฆษณา เป็นการสื่อสารโน้มน้าวใจประเภทหนึ่ง มุ่งจูงใจเพื่อประโยชน์ในการขายสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งยังจูงใจให้ผู้รับสารประพฤติปฏิบัติตามความมุ่งหมายของผู้โฆษณาด้วย

โฆษณามีส่วนประกอบที่สำคัญคือ เนื้อหา รูปแบบการนำเสนอ ภาษาที่ใช้ และการโน้มน้าวใจ

1. เนื้อหา เนื้อหาของโฆษณาจะชี้ให้เห็นแต่ความดีพิเศษของสินค้า การบริการ หรือกิจกรรมที่โฆษณา
2. รูปแบบการนำเสนอ การนำเสนอโฆษณามีรูปแบบต่างๆ เช่น เป็นคำขวัญ เป็นข้อความสั้นๆ เป็นบทสนทนา เป็นเรื่องราวแบบละคร คือมีตัวละคร ฉาก และบทสนทนา เป็นตำนาน นิทาน เป็นต้น
3. ภาษาโฆษณา โฆษณาจะใช้ทั้งคำพูดและภาษาที่สื่อด้วยสิ่งอื่นๆ เช่น ท่าทาง รูปภาพ เป็นต้น ในโฆษณามักใช้ถ้อยคำแปลกใหม่เพื่อให้สะดุดหู สะดุดตา สะดุดใจ ใช้ภาษาที่มีสัมผัสเพื่อให้จำง่าย ใช้ประโยคหรือวลีสั้นๆ เพื่อให้ผู้รับสารรับสารได้รวดเร็ว
4. การโน้มน้าวใจ การโน้มน้าวใจของโฆษณามีหลายวิธี เช่น การอ้างสถิติ บุคคล หรือองค์กร การตอบสนองธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งห่วงใยสุขภาพ ความปลอดภัย ความสุข ความมั่นคงในชีวิต ฯลฯ

 

การโฆษณาเป็นการเชิญชวน การโน้มน้าวใจให้สนใจในสิ่งที่โฆษณา อย่างเช่นการขายสินค้า การโฆษณาจึงมีความสำคัญต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก การเขียนโฆษณามีหลักการเขียน ดังนี้

1. มีความชัดเจน จะต้องใช้คำที่มีความหมายชัดเจน จะต้องคำนึงเสมอว่าการเขียนที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องตรงกับที่ผู้เขียนต้องการนั้น ขึ้นอยู่กับการใช้คำ การใช้ประโยค และการใช้สำนวนที่เหมาะสม ชัดเจนและกระชับ
2. จะต้องคำนึงถึงระเบียบของการใช้ภาษา และเขียนให้ถูกต้องเหมาะสมตามกาลเทศะ
3. ต้องรู้จักเลือกสรรถ้อยคำมาใช้ รู้จักใช้สำนวนโวหาร ภาพพจน์ คำอุปมา อุปมัย สุภาษิต คำพังเพย รู้จักการรวมประโยคให้ได้ข้อความชัดเจนและมีน้ำหนัก
4. มีความเรียบง่ายในการใช้ภาษา ใช้คำธรรมดาที่เข้าใจง่าย ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ ผู้อ่านเกิดความเบื่อหน่าย
5. มีความรับผิดชอบในความถูกต้องของเนื้อหา

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว