การวิเคราะห์ วิจารณ์ และประเมินเรื่องที่อ่าน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 37.9K views



นอกจากการจับใจความสำคัญของเรื่องที่อ่านแล้ว การประเมินความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้สนับสนุนในเรื่องที่อ่าน การวิจารณ์ความสมเหตุสมผล การลำดับความ และความเป็นไปได้ของเรื่อง การวิเคราะห์เพื่อแสดงความคิดเห็นโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญของทักษะการอ่านด้วย

ภาพ : shutterstock.com

การประเมินความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้สนับสนุนในเรื่องที่อ่าน

การประเมินความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้สนับสนุนในเรื่องที่อ่าน เป็นการวิเคราะห์สารประเภท บทความ บทวิจารณ์ ข่าว เพลง บทร้อยกรอง เรื่องสั้น นวนิยาย นิทาน ฯลฯ การพิจารณาสารจึงต้องพิจารณาตามแนวทางการเขียนสารนั้นๆ เช่น บทความ มีลักษณะการเขียนเป็น คำนำ เนื้อเรื่อง สรุป ส่วนข่าวมีลักษณะการเขียนเป็น พาดหัวข่าวหลัก หัวข่าวรอง สรุปข่าว และรายละเอียดของข่าว และที่สำคัญที่สุดคือต้องพิจารณาภาษาหรือถ้อยคำที่ใช้ด้วย เพราะงานเขียนแต่ละประเภทจะใช้ภาษาที่แตกต่างกันไป การวิเคราะห์ วิจารณ์ และประเมินค่าสารจึงควรยึดหลักดังนี้

 

1. อ่านสารนั้นอย่างคร่าวๆ ครั้งหนึ่งก่อน ในครั้งต่อไปควรอ่านสารอย่างละเอียด

2. วิเคราะห์ให้ได้ว่าสารที่อ่านเป็นสารประเภทใด เช่น ข่าว บทวิจารณ์ คำนำ เพลง หรือบทความ เป็นต้น

3. วิจารณ์แนวความคิดและการนำเสนอของผู้เขียนสารนั้นตามลักษณะการเขียน ทั้งรูปแบบ เนื้อหา และการใช้ภาษา

4. ตีความและประเมินค่าสารอย่างมีเหตุผลตามลักษณะของสารแต่ละประเภทว่าดี มีคุณค่า มีประโยชน์ หรือไม่ เพียงใด

 

การวิจารณ์ความสมเหตุสมผล การลำดับความและความเป็นไปได้ของเรื่อง

งานเขียนที่เป็นร้อยแก้ว บันเทิงคดี

 

จะต้องพิจารณาองค์ประกอบของเรื่องว่า สอดคล้องเหมาะสมกันหรือขัดแย้งกันหรือไม่ ในกรณีที่เป็นร้อยแก้วหรือบันเทิงคดี ก็ต้องดูโครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก การดำเนินเรื่อง ปมขัดแย้งของเรื่อง การคลี่คลายปมขัดแย้งไปจนจบเรื่อง วิเคราะห์ถึงความสมเหตุสมผล พิจารณาเนื้อเรื่องอย่างละเอียดถึงคุณค่า พฤติกรรมตัวละครว่ามีความสอดคล้อง น่าเชื่อถือหรือไม่ การใช้ภาษาในเรื่องเหมาะสมกับบุคคลไหม

 

งานเขียนที่เป็นร้อยกรอง

จะต้องพิจารณาถึงรูปแบบคำประพันธ์ ว่าเหมาะสมกับเนื้อหาหรือไม่ เนื้อหามีคุณค่าในการสร้างความเพลิดเพลิน ประเทืองปัญญา สร้างความสะเทือนอารมณ์ สะท้อนสังคม ให้ความรู้ความคิด มีคติเตือนใจหรือไม่ และในด้านวรรณศิลป์ต้องพิจารณาว่า การใช้ถ้อยคำในการแต่ง ใช้สำนวนโวหารไพเราะคมคายหรือไม่ มีกลวิธีการสร้างภาพพจน์และการใช้คำดีเพียงใด

 

การวิเคราะห์เพื่อแสดงความเห็นโต้แย้งกับเรื่องที่อ่าน

โดยปกติแล้วเรื่องของความชอบ หรือรสนิยมเป็นสิ่งที่แต่ละคนเห็นไม่ตรงกันอยู่แล้ว ทว่าแม้แต่การใช้เหตุผลเพื่อสืบสาวหาความถูกต้อง ก็ยังไม่อาจทำให้ได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันได้อย่างแท้จริง เรื่องบางเรื่องสามารถใช้เหตุผลคนละชุด เพื่อสนับสนุนความคิดที่ตรงกันข้ามได้อย่างมีน้ำหนัก ดังนั้น การมีความเห็นที่แตกต่างกันจึงเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อเราไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของเรื่องที่อ่านก็สามารถแสดงความเห็นโต้แย้งได้เสมอ

 

 

การเขียนโต้แย้ง

เป็นการเขียนแสดงความคิดเห็นลักษณะหนึ่ง โดยมุ่งที่จะโต้แย้งข้อมูล ข้อคิดเห็น หรือเหตุผลของเรื่องที่ได้อ่านด้วยความคิดเห็นในทางสร้างสรรค์ ด้วย ข้อมูล สถิติและการเรียบเรียงเหตุผลของเราเอง การเขียนโต้แย้งมีหลักการ ดังนี้

1. กำหนดหัวข้อและขอบเขตของการโต้แย้ง เพื่อจะได้ไม่หลงประเด็น

2. แบ่งเนื้อหาออกเป็นประเด็น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน

3. การโต้แย้งจะต้องมีพื้นความรู้ดีพอเกี่ยวกับหัวข้อที่จะโต้แย้ง

4. เรียบเรียงและนำเสนอข้อโต้แย้งได้อย่างละเอียดชัดเจน

 

ข้อควรระวังในการเขียนโต้แย้ง

ไม่ควรเขียนโต้แย้งด้วยความเห็นที่รุนแรง จนก่อให้เกิดความแตกแยก ต้องระมัดระวังในการใช้ภาษา ไม่ควรใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ ไม่ใช้คำที่เสียดสี เยาะเย้ย ดูถูกหรือดูหมิ่นผู้เขียนบทความ ไม่เขียนด้วยอารมณ์ ไม่พาดพิงให้เกิดความกระทบกระเทือนแก่ผู้อื่น อันอาจเป็นบุคคลหรือเป็นสิ่งที่บุคคลจำนวนมากเคารพนับถือ ซึ่งอาจกลายเป็นชนวนให้เกิดความแตกแยก หรือความเข้าใจผิดลุกลามต่อไปได้ เราควรพิจารณาโต้แย้งที่เหตุผลเป็นสำคัญเท่านั้น และควรเขียนเชิงสร้างสรรค์


เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว