การอ่านจับใจความจากวรรณคดีหรือวรรณกรรมในหนังสือเรียน หรือแม้กระทั่งบทเรียนจากกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ หากเราสามารถระบุใจความสำคัญ และรายละเอียดของข้อมูลที่สนับสนุนจากเรื่องที่อ่านนั้นได้ จะทำให้เราเข้าใจในเนื้อหานั้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ใจความสำคัญ คือ ข้อความสำคัญของเรื่อง จะตัดออกไปไม่ได้ ถ้าตัดออกไป จะทำให้เนื้อความเปลี่ยนแปลงไป หรือได้ความไม่ครบถ้วน การอ่านเพื่อสรุปใจความสำคัญ ผู้อ่านต้องมีสมาธิในการอ่าน อ่านอย่างรอบคอบ และผู้อ่านจะต้องทำความเข้าใจเรื่องที่อ่าน ต้องอ่านหลายๆ เที่ยว แล้วตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อใด อย่างไร แล้วตอบคำถามเหล่านั้นแต่เพียงสั้นๆ แต่ให้ได้ใจความชัดเจน จากนั้นนำมาเรียบเรียงให้เป็นประโยคหรือข้อความสั้นๆ
การอ่านเพื่อจับใจความจะต้องพิจารณาทีละย่อหน้า โดยปรกติย่อหน้าแต่ละย่อหน้าจะมีใจความสำคัญที่สุดอยู่หนึ่งใจความ ข้อความอื่นๆ เป็นส่วนขยายใจความสำคัญให้กระจ่างชัดขึ้นด้วยวิธีอธิบาย ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ หรือแสดงเหตุผล ประโยคใจความสำคัญอาจอยู่ตอนต้นย่อหน้า อยู่ตอนท้ายย่อหน้า หรืออาจอยู่ทั้งตอนต้นและตอนท้ายของย่อหน้า แต่ส่วนใหญ่มักอยู่ตอนต้นของย่อหน้า
ในบางครั้งประโยคใจความสำคัญก็ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจน ผู้อ่านจะต้องแยกให้ได้ว่า ข้อความใดเป็นใจความสำคัญ ข้อความใดเป็นใจความที่ขยายหรือเสริมใจความสำคัญ การอ่านจับใจความมีหลักในการอ่านดังนี้
1. อ่านเรื่องให้ละเอียด จับประเด็นให้ได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร
2. พิจารณาประโยคใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้า ซึ่งอาจปรากฏอยู่ตอนต้น ตอนกลาง หรือตอนท้ายของย่อหน้า บางย่อหน้าอาจต้องสรุปใจความสำคัญเอง
3. เรียบเรียงความคิดจากประโยคใจความสำคัญทั้งหมดเพื่อสรุปเป็นใจความสำคัญของเรื่อง
ตัวอย่าง
“หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าน้ำตาลหรือของหวานเป็นอาหารร้าย กินมากแล้วเป็นเบาหวาน ความเชื่อเหล่านี้เป็นการใส่ร้ายป้ายสีน้ำตาลเกินเหตุ แท้ที่จริงรสหวานเป็นรสโปรดปรานของมนุษย์ ทารก และเด็ก ร้อยทั้งร้อยชอบรสหวาน ต่อเมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่จึงหันไปชอบรสเค็ม และรสเปรี้ยวมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรรสหวาน และของหวานก็ยังเป็นของโปรดปรานของคนส่วนใหญ่ แม้จะไม่ใช่รสหลักรสเดียวก็ตาม”
ประโยคใจความสำคัญคือ รสหวานเป็นรสโปรดปรานของมนุษย์
ส่วนอื่นๆ เป็นเพียงส่วนประกอบที่ใช้ขยายประโยคใจความสำคัญ
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว