เมื่อเราต้องอ่านบทร้อยแก้วหรือบทร้อยกรองให้ผู้อื่นฟัง เราจำเป็นต้องอ่านออกเสียง ซึ่งในบทร้อยกรอง เราเรียกการอ่านออกเสียงนี้ว่า การอ่านทำนองเสนาะ การศึกษาหลักเกณฑ์ต่างๆ จะช่วยให้เราอ่านออกเสียงบทร้อยแก้วและบทร้อยกรองได้ถูกต้อง และเหมาะสมกับเรื่องที่อ่าน
การอ่านออกเสียง เป็นการอ่านให้คนอื่นฟัง เหมือนการร้องเพลงดังๆ ซึ่งต้องร้องเพราะ ร้องดี ทำให้ผู้ฟังเพลินเพลิน การอ่านออกเสียงก็เช่นเดียวกัน ต้องใช้น้ำเสียงที่ดัง สดใส น่าฟัง อ่านถูกต้องและถูกวรรคตอนด้วย การอ่านที่ดีต้องเหมือนการพูด คือผู้ฟังไม่มีความรู้สึกว่า ฟังคนอ่านหนังสือให้ฟัง
การอ่านบทร้อยกรอง ต้องอ่านให้ถูกฉันทลักษณ์ ถูกท่วงทำนองของคำประพันธ์แต่ละประเภท ซึ่งผู้อ่านจะต้องฝึกฝน ฝึกซ้อมให้เกิดความคุ้นเคยและชำนาญในการอ่าน ซึ่งผู้ที่อ่านเป็น อ่านถูก อ่านได้น่าฟังก็จะเป็นเสน่ห์ในตนเอง และยังเป็นการช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมทางภาษาของเราด้วย
การอ่านออกเสียงบทร้อยแก้ว
รูปแบบของร้อยแก้ว แบ่งเป็น 2 ประเภท
1. บันเทิงคดี คือ งานเขียนที่แต่งขึ้นโดยจินตนาการ มีความมุ่งหมายให้ผู้อ่านได้รับความบันเทิงเป็นสำคัญ แต่ก็อาจให้ความรู้ความจรรโลงใจ คติ และแง่คิดต่างๆ ด้วย งานเขียนประเภทนี้ได้แก่ นิทาน เรื่องสั้น นวนิยาย บทละครพูด นิยายอิงพงศาวดาร ตำนานต่างๆ เรื่องตลก ขำขัน เรื่องเพลง เรื่องดารา เป็นต้น
2. สารคดี คือ งานเขียนที่แต่งขึ้นจากข้อเท็จจริง เป็นงานเขียนที่มุ่งให้ความรู้และข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ เช่น สารคดีเชิงท่องเที่ยว สารคดีเชิงชีวประวัติ รายงานการประชุม ความเรียง บทความ ตำราทางวิชาการ พงศาวดาร กฎหมาย จดหมายเหตุ พระราชหัตถเลขา พระคัมภีร์ทางศาสนา เป็นต้น
บทร้อยแก้วมีหลักเกณฑ์การอ่านดังนี้
1. ศึกษาเรื่องที่อ่านให้เข้าใจ อ่านเพื่อเตรียมตัวก่อนการอ่านจริง ให้เข้าใจในเนื้อหา แบ่งวรรคตอนไว้ก่อน
2. ต้องอ่านให้คล่อง ไม่ติดขัด ถูกต้องตามอักขระวิธี ตัว ร ล ควบกล้ำ ต้องถูกต้องชัดเจน เสียงดังฟังชัด แต่ไม่ตะโกน การอ่านคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ ต้องอ่านให้ถูกต้องโดยยึดพจนานุกรมเป็นหลัก
3. อ่านโดยใช้น้ำเสียงให้เหมาะสมกับเรื่องที่อ่าน เช่น เนื้อหาเป็นเรื่องเศร้าโศกก็ต้องใช้เสียงที่ดูอ่อนโยนเศร้าสร้อยตามเนื้อหา ถ้าเป็นเรื่องทั่วๆ ไป ก็ใช้น้ำเสียงธรรมดา เป็นต้น
4. เหลือบตามองดูผู้ฟังบ้าง ไม่ก้มหน้าอ่านอย่างเดียว
5. ระวังการยืน การวางท่าทางในการอ่าน การจับหนังสือ ต้องให้เหมาะสม ไม่สูงหรือต่ำเกินไป
การอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง
การอ่านออกเสียงบทร้อยกรองเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การอ่านทำนองเสนาะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้ว่า “วิธีการอ่านออกเสียงอย่างไพเราะตามลีลาของบทร้อยกรองประเภท โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน” ฉันทลักษณ์ของบทร้อยกรองแต่ละประเภท มีการกำหนดทำนองให้แตกต่างกันออกไป บทร้อยกรองบางชนิดผู้อ่านสามารถอ่านได้หลายทำนอง
การอ่านทำนองเสนาะประเภทโคลงสี่สุภาพ มีวิธีการอ่านดังตัวอย่างต่อไปนี้
เสียงลือ / เสียงเล่าอ้าง / อันใด / พี่เอย
เสียงย่อม / ยอยศใคร / ทั่วหล้า
สองเขือ / พี่หลับใหล / ลืมตื่น / ฤๅพี่
สองพี่ / คิดเองอ้า / อย่าได้ / ถามเผือ
ในโคลงที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้น ใช้เครื่องหมาย / แทนการเว้นวรรคในการอ่าน
1. อ่านทอดเสียงให้ตรงตามจังหวะของแต่ละวรรค วรรคหน้าของแต่ละบาทมี 2 จังหวะ จังหวะละ 2 คำ และ 3 คำ
2. คำท้ายวรรคที่ใช้คำเสียงจัตวา ต้องเอื้อนเสียงให้สูงเป็นพิเศษ
3. เอื้อนวรรคหลังของบาทที่ ๒ ให้เสียงต่ำกว่าปกติ
4. ในกรณีที่มีคำมากพยางค์เกินแผนบังคับต้องรวบเสียงคำนั้นๆ ให้สั้นเข้า
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว