การแสดงออกทางภาษาที่เราใช้ส่งสารกันเป็นปกติในชีวิตประจำวันก็คือ การพูด บางครั้งเป็นการสื่อสารทางเดียว เช่น การบรรยาย การกล่าวคำอวยพร การกล่าวสุนทรพจน์ หรือปาฐกถา บางครั้งเป็นการสื่อสารสองทาง มีการตอบโต้กันระหว่างผู้รับสารและผู้ส่งสาร เช่น การสนทนา การถามตอบ บ้างเป็นการพูดอย่างเป็นทางการ บ้างก็เป็นการพูดอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งวิธีการพูดในแต่ละโอกาสมีความแตกต่างกันทั้งสิ้น ทักษะการในพูดจึงเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนให้เชี่ยวชาญ จึงจะสามารถพูดได้อย่างคล่องแคล่วในทุกสถานการณ์
ประเภทของการพูด
1. การพูดอย่างไม่เป็นทางการ คือ การพูดในชีวิตประจำวัน เช่น การสนทนาทั่วๆ ไป การพูดโทรศัพท์ การแนะนำตัว การซักถาม การตอบคำถาม แม้เป็นการพูดไม่เป็นทางการ แต่ผู้พูดก็ต้องใช้ภาษาอย่างสุภาพ เหมาะสมกับบุคคลและถูกกาลเทศะ
2. การพูดอย่างเป็นทางการ หมายถึง การพูดอย่างเป็นพิธีการในที่ประชุม หรือ การพูดต่อหน้าชุมชนในโอกาสต่างๆ ต้องอาศัยความรู้ความสามารถและศิลปะในการพูด เช่น การปาฐกถา การอภิปราย การบรรยาย การกล่าวสุนทรพจน์ การกล่าวอวยพรเนื่องในงานมงคลต่างๆ
วิธีการพูด
จำแนกได้เป็น 5 แบบคือ
1. พูดแบบฉับพลัน คือ ไม่มีโอกาสหรือไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า ประสบการณ์ ความรู้ ความคิด และปฏิภาณไหวพริบ จะช่วยให้ผู้พูดพูดได้ดี ในชีวิตประจำวันเราอาจต้องพูดแบบนี้เสมอๆ เช่น ในการโต้ตอบบทสนทนา
2. พูดแบบอ่านจากร่างหรือต้นฉบับ วิธีนี้นิยมใช้แบบเป็นทางการ เช่น การกล่าวรายงาน แถลงการณ์ กล่าวเปิดงาน กล่าวปิดงาน กล่าวในพิธีการต่างๆ
3. การพูดแบบท่องจำ บางครั้งเราจำเป็นต้องจำข้อความบางอย่างไปใช้อ้างหรือใช้พูด เช่น โคลง กลอน บทกวีต่างๆ คำคม ภาษิต ตัวเลข หรือสถิติ
4. พูดจากความเข้าใจโดยมีการเตรียมตัวล่วงหน้า คือ การพูดจากความรู้ ความสามารถ ความรู้สึกของผู้พูด และจะพูดได้ดียิ่งขึ้นถ้าได้มีการเตรียมตัวมาล่วงหน้า
องค์ประกอบของการพูดในโอกาสต่างๆ
การพูดในโอกาสต่างๆ เป็นการพูดที่ปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันตามสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญที่ผู้พูดจะต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ
1. กาลเทศะ แปลว่า เวลาและสถานที่ จะพูดในเวลาใด โอกาสใด เช่น ระหว่างการรับประทานอาหาร การนั่งฟังบรรยาย และสถานที่ไหน เช่น ในห้องประชุม ในห้องรับแขก ในห้องเรียน เป็นต้น
2. สัมพันธภาพ หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง เช่น เพื่อนกับเพื่อนที่มีความสนิทสนม พนักงานกับนายจ้าง ครูกับศิษย์ ประชาชนผู้มาติดต่อราชการกับเจ้าหน้าที่ ฯลฯ สังคมได้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไว้แล้ว ตามครรลองของวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และประเพณี
3. จุดมุ่งหมายของการพูด หมายถึง เจตนาในการพูดทั้งของผู้พูดและผู้ฟัง เช่น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อหาข้อมูลและวิธีการในการปฏิบัติ เพื่อโน้มน้าวใจ เพื่อให้เกิดการคล้อยตาม เพื่อให้เกิดความสบายใจ อบอุ่นใจ หรือเพื่อให้เกิดกำลังใจ
4. เนื้อหาของการพูด หมายถึง สารที่ผู้พูดและผู้ฟังพูดโต้ตอบกัน เนื้อหาของการพูดควรจะมีความต่อเนื่อง หากเป็นการพูดต่อสาธารณชน นอกจากความต่อเนื่องแล้ว ควรจะมีความกระจ่างชัดเจน ความถูกต้องด้านการใช้ภาษา และการเรียงลำดับความที่ดี
5. โอกาสพิเศษ หมายถึง เหตุการณ์พิเศษที่ทำให้เกิดการพูดนั้นๆ โดยมักจะเกี่ยวพันกับกาลเทศะ เช่น การกล่าวอวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ การกล่าวอวยพรคู่บ่าวสาวในงานสมรส การกล่าวขอบคุณวิทยากร
6. มารยาท หมายถึง แนวทางในการแสดงออกของพฤติกรรมการพูด เช่น ในการกล่าวขอบคุณวิทยากรซึ่งเชิญมาบรรยาย แม้ว่าการบรรยายจะน่าเบื่อหน่ายอยู่บ้าง ผู้กล่าวขอบคุณก็ไม่ควรพูดตำหนิ เย้ยหยัน ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ควรกล่าวขอบคุณอย่างจริงใจ เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว