การเขียนวิเคราะห์วิจารณ์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 21.7K views



การแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความรู้ และความคิด เป็นกระบวนการแสดงออกทางความคิด จากการที่ได้เรียนรู้ โดยทั่วไป เราจะวิเคราะห์วิจารณ์วรรณคดี หรือวรรณกรรม หรือบทประพันธ์ใน 4 ประเด็นคือ คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ คุณค่าด้านสังคม และคุณค่าด้านการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

ภาพ : shutterstock.com

ความหมายของการวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรม

การวิเคราะห์ หมายถึง การพิจารณาองค์ประกอบทุกส่วน ตั้งแต่ถ้อยคำ สำนวน การใช้คำ ใช้ประโยค ตลอดจนเนื้อเรื่องและแนวคิด ทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในข้อเขียน หรือก็คือการแยกองค์ประกอบออกมาให้เห็นชัดเจน

การวิจารณ์ หมายถึง การพิจารณาเทคนิค หรือกลวิธีในการแต่งให้เห็นว่าน่าคิด น่าสนใจ มีคุณค่า หรือมีข้อบกพร่อง ในการวิจารณ์สิ่งใดจึงต้องใช้ความรู้และเหตุผล มีหลักเกณฑ์และความรอบคอบ

 

การวิเคราะห์และวิจารณ์งานประพันธ์ นิยมพิจารณากว้างๆ ใน 4 ประเด็น

1. คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คือ ความไพเราะของบทประพันธ์ ความหมายของถ้อยคำ และภาษาที่ผู้แต่งเลือกใช้เพื่อให้ประทับใจผู้อ่าน​

2. คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ คือ เรื่องราวหรือเนื้อหาของบทประพันธ์ที่กอปรไปด้วยความรู้ หรือประสบการณ์อันทรงคุณค่าของผู้ประพันธ์

3. คุณค่าด้านสังคม วรรณคดีและวรรณกรรมที่ดีจะสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคม ทั้งด้านดีและด้านที่มีปัญหา วรรณคดีที่ดียังสามารถจรรโลงสังคมได้อีกด้วย

4. คุณค่าด้านการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน คือ ผู้อ่านสามารถนำแนวคิดและประสบการณ์จากเรื่องที่อ่านไปประยุกต์ใช้ หรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว