การเขียนรายงานการค้นคว้า
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 145.1K views



เมื่อเรียนมาถึงระดับหนึ่ง นักเรียนจะได้รับประสบการณ์การเขียนในรูปแบบของรายงาน ซึ่งมีทั้งรายงานทั่วไป และรายงานวิชาการ เป็นการวางพื้นฐานการเขียนอย่างมีขั้นตอน มีระบบระเบียบ ซึ่งจะนำไปใช้ต่อยอดในการเรียนระดับสูงขึ้นไป

ภาพ : shutterstock.com

ประเภทของรายงาน

1. รายงานทั่วไป คือ รายงานที่เสนอข้อเท็จจริงหรือข้อคิดเห็น เพื่อให้ทราบผลการปฏิบัติงาน หรือเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งที่ผ่านไปแล้ว หรือกำลังดำเนินการอยู่ หรือแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็ได้

2. รายงานวิชาการ เป็นผลการศึกษาค้นคว้า สำรวจ หรือวิเคราะห์เรื่องทางวิชาการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งได้รับการเรียบเรียงและนำเสนออย่างมีระเบียบแบบแผน

 

ขั้นตอนการจัดทำรายงาน

1. การเลือกเรื่องหรือหัวข้อ

ควรเลือกหัวข้อที่ตนถนัด เพราะถ้ามีพื้นความรู้อยู่บ้างจะช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาในการค้นหาข้อมูลพื้นฐาน ทั้งยังทำให้มองเห็นแนวทางในการกำหนดขอบเขตทิศทาง เค้าโครงของเรื่อง และของการศึกษาค้นคว้าได้อย่างเหมาะสม

ตั้งวัตถุประสงค์ที่มีคุณค่า หรือมีประโยชน์ทั้งแก่ตัวผู้ค้นคว้าเองและแก่ผู้อื่น เช่น ทำให้เกิดความรู้ทักษะใหม่ๆ หรือค้นพบสิ่งใหม่ หรือนำผลรายงานไปใช้แก้ปัญหา ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น

ควรกำหนดขอบเขตของเรื่องให้พอเหมาะพอดี ไม่กว้างหรือแคบเกินไป เรื่องที่มีขอบเขตกว้างเกินไปจะไม่สามารถเจาะลึกในรายละเอียดได้เท่าที่ควร

2. การค้นคว้าและรวบรวมแหล่งค้นคว้า

การเลือกเรื่องทำรายงาน ต้องเป็นเรื่องที่มีแหล่งข้อมูล หรือแหล่งสารสนเทศอย่างเพียงพอ ถ้าไม่มีหนังสือที่เกี่ยวข้องเพียงพอ ต้องหาจากแหล่งอื่น ซึ่งในปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลที่ช่วยในการค้นคว้าได้มากขึ้น สะดวกขึ้น อย่างอินเทอร์เน็ต

3. การวางโครงเรื่อง

การวางโครงเรื่องที่ดีมีความสำคัญมาก เพราะใช้เป็นกรอบ หรือแนวทางในการเขียนการค้นคว้า เมื่อรวบรวมแหล่งข้อมูลแล้ว ก็จัดวางโครงเรื่องคร่าวๆ

4. การอ่านและจดบันทึกข้อมูล

เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลามากที่สุด โดยผู้ทำรายงานต้องลงมืออ่านเอกสาร หรือแหล่งสารสนเทศที่รวบรวมไว้ คัดเลือกข้อมูลที่ตรงตามความต้องการ แล้วจดบันทึกข้อมูลเหล่านั้นไว้อย่างมีระบบ รวบรวมให้ครบถ้วนทุกหัวข้อตามที่วางไว้ในโครงเรื่อง เพื่อใช้ในการเรียบเรียงเนื้อเรื่องต่อไป

5. การเรียบเรียงเนื้อเรื่อง

ในการเขียนหรือเรียบเรียง จะต้องใช้ความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ จัดลำดับ จัดประมวลแนวคิดจากข้อมูลที่ได้รวบรวมไว้ แล้วนำมาเรียบเรียงด้วยสำนวนภาษา และแนวคิดของตนเอง ประกอบกับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทั้งหลาย ในการเขียนต้องใช้ภาษาอย่างเหมาะสม ใช้รูปแบบที่ถูกต้องเพื่อให้ผลงานออกมาน่าอ่าน และมีคุณค่า

6. การเขียนบรรณานุกรมหรือเอกสารอ้างอิง

รายชื่อเอกสาร หรือแหล่งสารสนเทศทุกรายการ ที่ใช้ประกอบการศึกษาค้นคว้าและอ้างอิงในเนื้อเรื่อง จะต้องนำมาเขียนเรียบเรียงตามลำดับอักษร ในรูปแบบที่ถูกต้องตามหลักสากล รวมไว้ในส่วนท้ายของรายงาน เรียกว่า บรรณานุกรม หรือรายการเอกสารอ้างอิง ซึ่งมีรูปแบบกฎเกณฑ์ในการเขียนที่ผู้ทำรายงานจะต้องศึกษา

7. การเขียนส่วนประกอบ

คือ การเขียนส่วนประกอบอื่นๆ นอกเหนือจากส่วนที่เขียนมาแล้ว ได้แก่ ปกนอก ปกใน คำนำ สารบัญ และส่วนประกอบตอนท้ายนอกเหนือจากบรรณานุกรม เช่น ภาคผนวก จากนั้นก็จัดพิมพ์ ตรวจทานแก้ไข แล้วเข้าเล่มเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์

 ​

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว