ความสมเหตุสมผลของงานเขียนประเภทชักจูงโน้มน้าวใจ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 24K views



การเขียนประเภทโน้มน้าวใจ เป็นการเขียนที่ต้องการให้ผู้อ่านเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติ หรือพฤติกรรม ให้คล้อยตามความคิดของผู้เขียน นักเรียนต้องพิจารณางานเขียนนั้น ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด โดยพิจารณาสังเกตจากความสมเหตุสมผลของงานเขียนนั้นๆ

ภาพ : shutterstock.com

 

ข้อสังเกตการเขียนประเภทชวนเชื่อและโน้มน้าวใจ

1. มีเนื้อหาที่เข้ากับ เพศ วัย การศึกษา อาชีพ ฐานะทางสังคมและค่านิยมของผู้อ่าน
2. การอ้างเหตุผลดูน่าเชื่อถือ คล้อยตาม แต่มักไม่รัดกุม ชี้ให้เห็นข้อดีอย่างเดียว
3. มีการอ้างอิงบุคคล ตำรา ที่น่าเชื่อถือ อ้างอิงวัฒนธรรม ประเพณีเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณ
4. ใช้จิตวิทยาในการชวนเชื่อ ผู้อ่านจะรู้สึกเห็นด้วยได้อย่างง่ายดาย
5. ภาษาที่ใช้มีความเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน สั้น กระชับ สื่อความหมายชัดเจน ทำให้เห็นภาพ

 

การพิจารณาสารโน้มน้าวที่มีเหตุผล

การพิจารณาการเขียนสารโน้มน้าวใจ ต้องพิจารณาการให้เหตุผลของผู้เขียน ว่ามีความน่าเชื่อถือในระดับใด มีการใช้เหตุผลวิบัติหรือไม่ อย่างไร ซึ่งรูปแบบของการใช้เหตุผลวิบัตินั้นมีมากมาย เช่น

- การอ้างถึงบุคคลที่ผู้คนให้ความเคารพ เช่น “มนุษย์ไม่ควรไว้ผม ดูอย่างพระพุทธเจ้าสิ ยังทรงปลงพระเกศาเลย”
- การอ้างตำราที่น่าเชื่อถือ เช่น “บรรพบุรุษของมนุษย์เคยเป็นสัตว์น้ำมาก่อน ฉันอ่านมาจาก ‘On The Origin of Species’ ของดาร์วิน” (ตำราของชาร์ล ดาร์วิน เป็นเพียงทฤษฎี หรือความเห็น ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง)
- การเหมารวม เช่น “คนทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ไม่มีสิ่งใดอยู่ค้ำฟ้า” (สรุปไม่ได้ เพราะไม่สามารถสังเกตคนทุกคนได้ เป็นการเหมารวมมนุษย์ทุกคนจากมนุษย์บางส่วนที่ตายไปแล้ว ประโยคนี้จะจริงก็ต่อเมื่อคนทุกคนตายทั้งหมด ซึ่งก็จะไม่มีใครอยู่ยืนยันว่าประโยคนี้จริง ดังนั้นประโยคนี้จึงไม่มีวันเป็นจริง)
- การโจมตีตัวบุคคล เช่น “อย่าไปเชื่อที่มันพูด มันเป็นฆาตกร” (คนไม่ดี ไม่ได้แปลว่าจะต้องโกหกทุกคำพูด)
- การอ้างคนหมู่มาก เช่น “กระทะรุ่นนี้ดีที่สุด คนซื้อใช้กันทั้งบ้านทั้งเมือง”
- การอ้างประเพณีหรือสิ่งที่สืบทอดมายาวนาน เช่น “ถ้าบุหรี่ทำร้ายสุขภาพจริงๆ คงหายไปตั้งแต่โบราณแล้ว ไม่ตกทอดมาจนทุกวันนี้หรอก” (การสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นคนละเรื่องกับการเป็นสิ่งที่ดี สิ่งนั้นอาจดีหรือไม่ดีก็ได้)
- การทวนคำถาม เช่น “มวยจีนใช้ต่อสู้จริงไม่ได้ เพราะเป็นแค่ปาหี่” (เหมือนอ้างเหตุผล แต่ไม่ได้มีการอ้างจริงๆ ข้ออ้างและข้อสรุปมีความหมายเหมือนกัน เหมือนพูดแบบกำปั้นทุบดิน”
- การยกเหตุผลผิด เช่น “ถ้าป๊อบคอร์นมันไม่ดี ป่านนี้โรงหนังเจ๊งหมดแล้ว” (ข้ออ้างและข้อสรุปไม่มีความเกี่ยวข้องกัน)

 

การใช้เหตุผลวิบัติยังมีอีกหลายรูปแบบ เราต้องพิจารณาหาข้ออ้าง ข้อสนับสนุนของผู้เขียน และพิจารณาว่า ข้ออ้างนั้นเป็นเหตุของข้อสรุปที่ผู้เขียนพยายามจะโน้มน้าวจริงหรือไม่ หรือมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เราต้องตัดอคติออกไปจากใจ ไม่ว่าจะเป็นความรักชอบพอหรือความเกลียดชัง แล้วพิจารณาเพียงความเชื่อมโยงของเหตุและผล ก็จะสามารถเห็นความน่าเชื่อถือของสารโน้มน้าวนั้นๆ ได้

สำหรับชาวพุทธ พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนหลัก “กาลามสูตร” ทั้ง 10 ประการไว้เพื่อใช้พิจารณาว่าควรเชื่อ หรือไม่ควรเชื่อในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา โดยหลักการของกาลามสูตรนั้นก็คือ การกลั่นกรองเหตุผลวิบัติออกจากข้ออ้าง และข้อสรุปดังที่ได้กล่าวไว้แล้วนั่นเอง ตัวอย่างเช่น อย่าพึงเชื่อเพียงเพราะได้ยินได้ฟังมา เพราะถือสืบๆ กันมา เพราะคิดเอาเอง เพราะเห็นพ้องต้องกันกับความคิดของเรา เพราะตำราหรือครูบอกไว้ หรือแม้แต่เพราะใช้เหตุผลของเราตรึกตรองดีแล้ว เพราะการใช้เหตุผลของเราอาจจะผิดก็ได้

 

เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว