การอ่านเป็นการนำความรู้เข้าสู่สมอง เป็นช่องทางหลักและสำคัญมาก เพราะถ้าไม่อ่าน เราก็ไม่รู้อะไรอีกมากมาย สมองก็จะไม่มีการบันทึกหรือจดจำ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านออกเสียง หรืออ่านในใจ ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น
การอ่านบทร้อยแก้ว
คือ การอ่านถ้อยคำที่แต่งไว้โดยการออกเสียง แบ่งจังหวะให้เหมาะสมกับเรื่องที่อ่านไปสู่ผู้ฟัง ซึ่งจะทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราวที่อ่าน
หลักการอ่านบทร้อยแก้ว
1. อ่านเพื่อเตรียมตัวก่อนการอ่านจริง ให้เข้าใจเนื้อหาแบ่งวรรคตอนให้เหมาะสมไว้ก่อน
2. ต้องอ่านให้คล่อง ไม่ติดขัด ถูกต้องตามอักขระวิธี ตัว ร ล คำควบกล้ำ ต้องถูกชัดเจน เสียงดังฟังชัด แต่ไม่ตะโกน
3. อ่านโดยใช้น้ำเสียงให้เหมาะสมกับเรื่องที่อ่าน เช่นเนื้อหาเป็นเรื่องเศร้าโศกก็ต้องใช้เสียงที่ ดูอ่อนโยน และเศร้าตามเนื้อหา ถ้าเรื่องเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป ก็ใช้น้ำเสียงธรรมดา เป็นต้น
4. เหลือบตามองดูผู้ฟังบ้าง ไม่ก้มหน้าอ่านอย่างเดียว เหมือนเราชมการอ่านข่าวทางโทรทัศน์ที่ผู้อ่านต้องมองมายังผู้ฟังเป็นระยะ
5. ระวังการยืน การวางท่าทางในการอ่าน การจับหนังสือ ให้เหมาะสม ไม่สูงหรือต่ำเกินไป
การอ่านออกเสียงบทร้อยกรอง
การอ่านออกเสียงร้อยกรอง เป็นการอ่านที่มุ่งให้เกิดความเพลิดเพลินซาบซึ้งในรสของคำประพันธ์ ซึ่งจะต้องอ่านอย่างมีจังหวะ ลีลา และท่วงทำนองตามลักษณะคำประพันธ์แต่ละชนิด
การอ่านบทร้อยกรอง อ่านได้ 2 แบบ ดังนี้
1. อ่านออกเสียงธรรมดา เป็นการอ่านออกเสียงเหมือนการอ่านร้อยแก้ว แต่มีวรรคตอนตามแบบบังคับคำประพันธ์
2. อ่านเป็นทำนองเสนาะ คือ อ่านออกเสียงตามสำเนียงสูง ต่ำ หนัก เบา ยาว สั้นเป็นทำนองเหมือนเสียงดนตรี มีเอื้อนเสียง เน้นสัมผัส ตามจังหวะ ลีลา และท่วงทำนอง ตามลักษณะบังคับของบทประพันธ์ให้ชัดเจนและเหมาะสม คล้ายกับการร้องเพลง
หลักในการอ่านบทร้อยกรอง
1. ต้องศึกษารูปแบบบทร้อยกรอง ลองอ่านเพื่อแบ่งวรรคตอน จังหวะ อ่านคำให้ถูกต้อง ให้มีความคุ้นเคยในการออกเสียง และให้ถูกต้องตามข้อบังคับของคำประพันธ์นั้นๆ
2. ออกเสียงคำควบกล้ำ ร ล ให้ถูกต้องชัดเจน เสียงดังฟังชัด
3. เน้นเสียงคำที่ส่งสัมผัสกัน เช่น สัมผัสระหว่างวรรคต้องมีการเว้นระยะตามจังหวะ ตามวรรค ต้องเอื้อนเสียงให้ถูกต้อง ถูกทำนอง น้ำเสียงเหมาะสมกับอารมณ์และเนื้อหาของคำประพันธ์ที่อ่าน
เรียบเรียงโดย : อลงกรณ์ พลอยแก้ว