การแปรรูปหรือการเปลี่ยนลักษณะของหิน จะส่งผลให้เกิดเป็นโครงสร้างธรณีหลายๆ รูปแบบที่บันทึกอยู่ในตัวหิน เช่น โค้งงอ รอยเลื่อน แนวแตก โค้งรูปประทุนหงาย โค้งรูปประทุนคว่ำ โครงสร้างทางธรณีเหล่านี้ นักธรณีวิทยาใช้ในการศึกษาเพื่อตรวจสอบ และใช้ในการอธิบายถึงประวัติ ขนาด และทิศทางของแรงต่างๆ ที่มากระทำต่อตัวหิน หรือเปลือกโลกในบริเวณนั้นๆ
โครงสร้างทางธรณีวิทยาที่สำคัญ เป็นผลจากการเปลี่ยนลักษณะของหิน เนื่องมาจากแรงเค้นและแรงเครียดที่มากระทำต่อตัวหิน หรือเปลือกโลก ได้แก่
1. ลักษณะโค้งงอ
ชั้นหินสามารถโค้งงอได้ในหลายรูปแบบ เมื่อถูกแรงบีบอัด ลักษณะโค้งงอนี้ อาจจะมีขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่มาก แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
- โค้งรูปประทุนหงาย มีลักษณะเป็นชั้นหินที่โค้งตัวเหมือนเอาประทุนเรือมาวางหงาย ชั้นหินที่อยู่บริเวณใจกลางของโค้งประทุนหงาย จะมีอายุอ่อนที่สุด
- โค้งรูปประทุนคว่ำ มีลักษณะเป็นชั้นหินที่โค้งเหมือนเอาประทุนเรือมาวางคว่ำ ชั้นหินที่อยู่บริเวณใจกลางของโค้งประทุนคว่ำ จะมีอายุแก่ที่สุด
2. รอยเลื่อนในหิน และมีการเลื่อนตัวของหินผ่านรอยแตกนั้นๆ เกิดขึ้น
เมื่อหินไม่สามารถทนต่อแรงเค้นที่มากระทำ ทำให้เกิดการแตกหัก และมีการเลื่อนตัวของหินตามรอยแตก หลักฐานและร่องรอยที่สำคัญที่บ่งชี้ให้ทราบว่า รอยแตกในหินนั้นเป็นรอยเลื่อน หรือรอยแตกธรรมดาก็คือ ตามพื้นผิวของรอยเลื่อน จะมีผิวหน้าราบเรียบ และมีร่องของการครูดเป็นริ้วลายขนาน ไปตามทิศทางการเคลื่อนที่ของหิน
นอกจากนั้น บริเวณที่เกิดรอยเลื่อน มักจะพบหินกรวดเหลี่ยม ซึ่งเป็นผลจากการที่เมื่อหินมีการแตกหัก และเลื่อนตัวผ่านซึ่งกันและกัน จะบดอัดทำให้กลายเป็นหินกรวดเหลี่ยม ทั้งขนาดเล็กและใหญ่คละกันไป หินกรวดเหลี่ยมนี้ จะช่วยบอกว่ามีการเลื่อนตัวของหิน แต่ไม่สามารถบอกทิศทางการเคลื่อนที่ได้
3. แนวแตก
เกิดขึ้นเนื่องจากหินเปลือกโลกถูกแรงมากระทำ จากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก จึงต้องพยายามแตกตัวออกเพื่อให้หมดภาวะความกดดัน เกิดเป็นแนวแตกในหิน แนวการวางตัวมักจะสม่ำเสมอทั้งผืนหิน นอกจากนี้ แนวแตกอาจเกิดขึ้นได้จากการเย็นตัวของหินอัคนี หรือการดันแทรกตัวของหินหนืดเข้ามาในพื้นที่ ทำให้เกิดแนวแตกในหินข้างเดียว
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร