ซากดึกดำบรรพ์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 53.9K views



ซากดึกดำบรรพ์ หรือฟอสซิล (fossil) คือซาก หรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ ที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นก่อนยุคประวัติศาสตร์ เมื่อสิ่งมีชีวิตในอดีตเหล่านั้นตายลง ซากก็ถูกทับถม และฝังตัวอยู่ในหิน นักธรณีวิทยาใช้ซากดึกดำบรรพ์เป็นหลักฐาน บอกถึงประวัติความเป็นมาของพื้นที่ต่างๆ ซึ่งสามารถคาดคะเนได้ว่า ในอดีตเป็นสภาพแวดล้อมบนบกหรือทะเล เป็นต้น นอกจากนั้นซากดึกดำบรรพ์ ยังสามารถบอกช่วงอายุของหินตะกอนเหล่านั้นได้ด้วย

ภาพ : shutterstock.com

 

ซากพืชและสัตว์จะเปลี่ยนสภาพเป็นซากดึกดำบรรพ์ได้ ต้องมีโครงร่างที่แข็ง เช่น กระดูกและฟันของสัตว์ หรือเป็นลำต้นของต้นไม้ เป็นต้น เมื่อสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ตายลง ได้ถูกฝังในชั้นตะกอนทันที เพราะการฝังกลบอย่างรวดเร็วทำให้ซากสิ่งมีชีวิตสามารถชะลอการสลายตัวได้ จากนั้นสารละลายของแร่ธาตุต่างๆ จะแทรกซึมประสานเข้าไปในช่องว่างของสิ่งมีชีวิตนั้น ทำให้ส่วนที่แข็งของซากสิ่งมีชีวิตนั้นกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ยังคงรูปร่างเกือบเหมือนเดิมไว้ได้

ภาพ : shutterstock.com

 

ความสมบูรณ์ของซากดึกดำบรรพ์ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตนั้นเคยอาศัยอยู่ เช่น ในสภาพแวดล้อมที่น้ำนิ่ง ทำให้ซากสิ่งมีชีวิตเสียหายน้อยกว่าสภาพแวดล้อมที่กระแสน้ำปั่นป่วน

ซากดึกดำบรรพ์ดัชนี เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่บอกช่วงอายุได้แน่นอน เนื่องจากเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีการกระจายตัวทั่วโลก และปรากฏให้เห็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งแล้วก็สูญพันธุ์ไป

ภาพ : shutterstock.com

 

ประเทศไทยพบซากดึกดำบรรพ์ทั้งพืช และสัตว์หลายชนิด ในชั้นหินตามภูมิภาคต่างๆ เช่น ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae) ฯลฯ ซึ่งแหล่งที่พบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ของประเทศไทยส่วนมาก จะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในชั้นหินทรายและชั้นหินทรายแป้ง

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร