ภูเขาไฟระเบิด เกิดจากการปะทุของแมกมา หรือหินหนืด แก๊ส และเถ้าภูเขาไฟจากใต้เปลือกโลก ก่อนการระเบิดมักจะมีสัญญาณบอกเหตุให้รู้ล่วงหน้า เช่น แผ่นดินในบริเวณรอบๆ ภูเขาไฟเกิดการสั่นสะเทือน มีเสียงคล้ายฟ้าร้องติดต่อกันเป็นเวลานาน เสียงที่ดังออกมานั้น เกิดจากการเคลื่อนไหวของหินหนืด แก๊สต่างๆ และไอน้ำที่ถูกอัดไว้ เมื่อเกิดการระเบิด ลาวา เศษหิน ฝุ่นละออง เถ้าถ่านภูเขาไฟ จะถูกพ่นออกมาทางปล่องภูเขาไฟ และออกมาทางช่องด้านข้างของภูเขาไฟ รวมทั้งจากรอยแยกของภูเขาไฟ
เมื่อหินหนืดขึ้นมาสู่พื้นผิวโลก จะเรียกว่า ลาวา สิ่งที่แตกต่างระหว่างลาวาและหินหนืด คือ หินหนืดที่อยู่ใต้โลก จะมีความดันสูงมากเมื่อเทียบกับลาวา
ความรุนแรงของการระเบิดของภูเขาไฟ ส่วนมากเป็นผลมาจากความหนืดของหินหนืด หินหนืดที่เคลื่อนที่สู่ผิวโลก จะมีองค์ประกอบทางเคมีที่แตกต่างกัน ส่วนประกอบที่สำคัญที่มีผลต่อความหนืดของหินหนืด คือ ซิลิกา
เมื่อภูเขาไฟระเบิด จะพ่นชิ้นส่วนภูเขาไฟขนาดต่างๆ ออกมา ส่วนมากเป็นเศษหิน ผลึกแร่ เถ้าภูเขาไฟ ฝุ่นภูเขาไฟจะตกลงมาสะสมตัวบนผิวโลกทั้งในน้ำและบนบก เมื่อสำรวจหินภูเขาไฟ จะพบว่ามีลักษณะแตกต่างกันที่เนื้อผลึก สี ลักษณะผิว เป็นต้น
หลังการระเบิดของภูเขาไฟ ลักษณะรูปร่างของพื้นที่ภูเขาไฟอาจเปลี่ยนไป เกิดความแตกต่างกับบริเวณอื่นๆ หรือในบางแห่ง การระเบิดทำให้พื้นที่ภูเขาไฟเดิมถูกทำลายหายไปด้วย
ภูเขาไฟก่อให้เกิดความเสียหาย เช่น การเกิดแผ่นดินไหว การไหลของชิ้นส่วนภูเขาไฟที่ร้อน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน กลุ่มควันหรือเถ้าธุลี ส่งผลให้ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง กลุ่มแก๊สที่ถูกพ่นออกมา ทำให้เกิดฝนกรด เถ้าของภูเขาไฟที่ถูกพ่นออกมา เมื่อเกิดฝนตกหนัก จะกลายเป็นโคลนไหลทับถมบ้านเรือน การระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเลอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดสึนามิ
แต่การระเบิดของภูเขาไฟก็สร้างประโยชน์มากมาย เช่น การเกิดภูเขา หรือที่ราบสูงรูปร่างต่างๆ ดินที่เกิดจากการผุพังสลายตัวของเศษหินภูเขาไฟในบริเวณนั้น จะมีแร่ธาตุสะสม ทำให้อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก แร่ต่างๆ ที่ตกผลึกอยู่ใต้โลก จะถูกดันขึ้นมาบนผิวโลก เป็นอัญมณีฝังตัวอยู่ในบริเวณนั้น หรือภูเขาไฟบางแห่ง ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดึงดูดให้ผู้คนไปเยี่ยมชม
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร