การแบ่งชั้นโครงสร้างโลก หากแบ่งตามการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไหวสะเทือน จะแบ่งออกได้เป็น ธรณีภาค ฐานธรณีภาค มีโซสเฟียร์ แก่นโลก และแก่นโลกชั้นใน แต่หากแบ่งตามองค์ประกอบทางเคมีของหิน จะแบ่งออกเป็น เปลือกโลกทวีป เปลือกโลกมหาสมุทร เนื้อโลก และแก่นโลก
องค์ประกอบภายในโลก แบ่งตามการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไหวสะเทือน สามารถแบ่งออกเป็น 5 ชั้นดังนี้
1. ธรณีภาค (Lithosphere) เป็นชั้นนอกสุดของโลก ในชั้นนี้คลื่นปฐมภูมิและคลื่นทุติยภูมิเคลื่อนที่ผ่านได้ มีความลึกประมาณ 100 กิโลเมตร ประกอบด้วยหินแข็ง
2. ฐานธรณีภาค (Asthenosphere) เป็นชั้นที่อยู่ใต้ธรณีภาค ในบริเวณนี้คลื่นไหวสะเทือนมีการเปลี่ยนแปลงความเร็วไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากประกอบด้วยหินที่มีความแข็งแตกต่างกัน
3. มีโซสเฟียร์ (Mesosphere) เป็นชั้นที่อยู่ใต้ฐานธรณีภาค มีสถานะเป็นของแข็ง คลื่นไหวสะเทือนมีความเร็วเพิ่มขึ้นสม่ำเสมอ
4. แก่นโลกชั้นนอก (Outer core) อยู่ใต้มีโซสเฟียร์ คลื่นปฐมภูมิเคลื่อนที่ผ่านได้ แต่คลื่นทุติยภูมิไม่สามารถเคลื่อนที่ผ่านชั้นดังกล่าวได้
5. แก่นโลกชั้นใน (Inner core) คลื่นปฐมภูมิและคลื่นทุติยภูมิเคลื่อนที่ผ่านได้ มีอัตราเร็วค่อนข้างคงที่ เนื่องจากแก่นโลกชั้นในเป็นของแข็งที่เป็นเนื้อเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งโครงสร้างโลกตามองค์ประกอบทางเคมีของหิน แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ดังนี้
1. เปลือกโลก เป็นผิวด้านนอกที่ปกคลุมโลก แบ่งออกได้เป็น 2 บริเวณคือ เปลือกโลกทวีป หมายถึง ส่วนที่เป็นพื้นทวีปและไหล่ทวีป ประกอบด้วยธาตุซิลิคอน และอะลูมิเนียม และเปลือกโลกมหาสมุทร หมายถึง ส่วนที่อยู่ใต้มหาสมุทรต่างๆ ประกอบด้วยธาตุซิลิคอน และแมกนีเซียม
2. เนื้อโลก เป็นหินอัลตราเมฟิก ประกอบด้วยแร่ที่มีโครงสร้างที่สามารถทนต่อสภาพความดัน และอุณหภูมิ
3. แก่นโลก นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถพบตัวอย่างองค์ประกอบต่างๆ ของแก่นโลกที่ผิวโลกได้ จึงอาศัยทฤษฎีกำเนิดโลกในระบบสุริยะ และการคำนวณหาความหนาแน่นของโลก ทำให้ทราบว่า แก่นโลกมีองค์ประกอบหลักเป็นธาตุเหล็ก
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร