การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศมีมากมาย เช่น ดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ดาวเทียมสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) เป็นต้น
1. ดาวเทียมสื่อสาร
คือดาวเทียมที่ใช้เพื่อการสื่อสารโทรคมนาคม ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ประเทศไทยใช้ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมอินเทลแซท (Intelsat) และดาวเทียมปาลาปา (Palapa) ของประเทศอินโดนีเซีย โดยใช้สถานีดาวเทียมภาคพื้นแห่งแรกของประเทศไทยที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งยังคงใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ การถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีดาวเทียมดวงอื่นๆ อีก เช่น ดาวเทียมมอลนิยา (Molniya) ดาวเทียมไทยคม (Thaicom) เป็นต้น
2. ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา
เป็นดาวเทียมที่มีอุปกรณ์ถ่ายภาพเมฆ และเก็บข้อมูลของบรรยากาศในระดับสูง ทำให้ได้ข้อมูลสำคัญในการพยากรณ์อากาศได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว รวมทั้งเฝ้าสังเกตการณ์การก่อตัว และการเคลื่อนตัวของพายุที่เกิดขึ้นบนโลก เป็นข้อมูลที่สำคัญมากในการพยากรณ์อากาศ เช่น ดาวเทียม GMS-3 ดาวเทียมโนอา-8 (NOAA-8) ดาวเทียมโนอา-9 (NOAA-9) เป็นต้น
3. ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร
เป็นดาวเทียมที่มีอุปกรณ์สำรวจแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ ใช้สำหรับเฝ้าสังเกตสภาวะแวดล้อมที่เกิดบนโลก ติดตามอุทกภัยและความแห้งแล้งที่เกิดขึ้น เช่น ดาวเทียมธีออส (Theos) มีอีกชื่อคือ ดาวเทียมไทยโชต เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทย ส่งผลให้คนไทยมีโอกาสนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น การทำแผ่นที่ การเกษตร การใช้ที่ดิน ป่าไม้ สภาพแวดล้อม อุทกภัย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีดาวเทียมแลนด์แซท (Landsat) ดาวเทียม SPOT ดาวเทียม MOS-1 เป็นต้น
4. ดาวเทียมสังเกตการณ์ดาราศาสตร์
เป็นดาวเทียมที่มีกล้องโทรทรรศน์ และอุปกรณ์ดาราศาสตร์สำหรับศึกษาวัตถุท้องฟ้า มีประเภทที่โคจรอยู่รอบโลก ประเภทที่โคจรผ่านไปใกล้ดาวเคราะห์ หรือลงสำรวจดาวเคราะห์ เช่น ยานอวกาศวอยเอเจอร์ ที่ค้นพบภูเขาไฟหลายแห่งที่กำลังคุกรุ่นอยู่บนดวงจันทร์ไอโอ ค้นพบสภาพทางธรณีของดวงจันทร์แกนีมีด คัลลิสโต ยูโรปา ค้นพบดวงจันทร์ใหม่ 3 ดวงของดาวพฤหัสบดี เป็นต้น
5. กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
ช่วยในการเฝ้าติดตามสังเกตวัตถุท้องฟ้า ได้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง กล้องฮับเบิลเป็นกล้องชนิดสะท้อนแสง ควบคุมอุปกรณ์การทำงานได้จากศูนย์ควบคุมบนพื้นโลก ภาพถ่ายจากกล้องจะได้รับการศึกษาวิเคราะห์โดยสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลด้านดาราศาสตร์ ช่วยให้เกิดความเข้าใจถึงส่วนประกอบในระบบสุริยะ การกำเนิดของดาวฤกษ์ โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงของกาแล็กซี
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร