โครงสร้างและปรากฏการณ์บนดวงอาทิตย์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 143.5K views



ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์สีเหลือง มีอุณหภูมิที่ผิวประมาณ 5,800 เคลวิน แสงสว่างที่ส่องออกมาจากดวงอาทิตย์ ทำให้มองเห็นดาวเคราะห์ได้ พลังงานจากดวงอาทิตย์ยังทำให้โลกอบอุ่น โครงสร้างของดวงอาทิตย์แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ แกนกลางดวงอาทิตย์ เขตการแผ่รังสี และเขตการพาความร้อน โดยมีชั้นบรรยากาศต่างๆ ห่อหุ้ม เช่น ชั้นโฟโตสเฟียร์ (Photosphere) ชั้นโครโมสเฟียร์ (Chromosphere) คอโรนา (Corona) และบนดวงอาทิตย์ ยังอาจเกิดปรากฏการณ์ขึ้นได้อีกหลายอย่าง เช่น ลมสุริยะ (Solar wind) ออโรรา (Aurora) จุดมืดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) พายุสุริยะ (Solar storm) เป็นต้น

ดวงอาทิตย์ประกอบด้วยโครงสร้างใหญ่ 2 ส่วนคือ ส่วนตัวดวงอาทิตย์ หรือโครงสร้างภายใน และส่วนชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มดวงอาทิตย์

ภาพ : shutterstock.com

 

ส่วนตัวดวงอาทิตย์ หรือโครงสร้างภายในของดวงอาทิตย์มี 3 ส่วนคือ

1. แกนกลางดวงอาทิตย์ เป็นส่วนในสุดของดวงอาทิตย์ มีอุณหภูมิไม่น้อยกว่า 15 ล้านเคลวิน ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานทั้งหมดของดวงอาทิตย์

2. เขตการแผ่รังสี อยู่ระหว่างแก่นและเขตการพา การถ่ายโอนพลังงานในเขตนี้ใช้เวลานานมาก

3. เขตการพาความร้อน เป็นการพาพลังงานจากเขตการแผ่รังสี ออกสู่ผิวของดวงอาทิตย์ และพลังงานจากผิวของดวงอาทิตย์ ออกสู่อวกาศโดยการแผ่รังสี

 

ชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มดวงอาทิตย์ แบ่งออกเป็น 3 ชั้นเช่นกัน ได้แก่

1. ชั้นโฟโตสเฟียร์ เป็นพื้นผิวของดวงอาทิตย์ที่มีสถานะเป็นแก๊ส เป็นชั้นบรรยากาศชั้นในสุด เป็นบริเวณสว่างที่สามารถมองเห็นได้ เป็นบริเวณที่ส่งคลื่นแสง ทำให้โลกได้รับแสงสว่าง

2. ชั้นโครโมสเฟียร์ เป็นชั้นบรรยากาศบางๆ อยู่เหนือพื้นผิวของดวงอาทิตย์ มีสถานะเป็นแก๊ส เป็นบริเวณที่ส่งคลื่นแสงสีแดง ที่เราสังเกตเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีแดงช่วงเย็น ขอบเขตของชั้นนี้ไม่แน่นอน 

3. คอโรนา เป็นชั้นบรรยากาศที่เจือจาง และแผ่กระจายจากดวงอาทิตย์ได้ไกลมาก เป็นส่วนนอกสุด มีสถานะเป็นแก๊ส เป็นบริเวณที่ส่งประจุไฟฟ้าออกมาสู่อวกาศ เรียกว่า ลมสุริยะ เราเห็นแสงส่วนนี้ในช่วงที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง 

ภาพ : shutterstock.com

 

ตัวอย่างปรากฏการณ์บนดวงอาทิตย์

- ลมสุริยะ คือแก๊สที่ร้อน จนอะตอมแตกตัวเป็นอิเล็กตรอน และไอออน ถูกปลดปล่อยจากบรรยากาศชั้น คอโรนา ของดวงอาทิตย์ ประกอบด้วยอนุภาคโปรตอน และอิเล็กตรอน เช่นเดียวกับแก๊สภายในดวงอาทิตย์

- ออโรรา หรือแสงเหนือ/แสงใต้ เกิดจากลมสุริยะ เคลื่อนที่ผ่านเข้ามาบริเวณสนามแม่เหล็กโลกที่ขั้วโลกเหนือ/ขั้วโลกใต้

- จุดมืดบนดวงอาทิตย์ บริเวณโฟโตสเฟียร์มีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณอื่นๆ และเกิดระเบิดน้อยกว่าบริเวณอื่นๆ ทำให้มีความเข้มแสงน้อยกว่า จึงเกิดจุดมืดบนดวงอาทิตย์ และจุดมืดจะเกิดไม่ซ้ำที่เดิม

- พายุสุริยะ เกิดจากการปล่อยอนุภาคความเร็วสูงจำนวนมหาศาล จากชั้นบรรยากาศคอโรนาของดวงอาทิตย์ โดยอนุภาคดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของ DNA ภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตได้ เกิดการรบกวนสนามแม่เหล็กของโลก ทำให้ระบบสื่อสารโดยวิทยุคลื่นสั้นทั่วโลก และระบบส่งกำลังไฟฟ้าในประเทศที่อยู่ใกล้ขั้วแม่เหล็กโลกขัดข้อง สายการบินจึงยกเลิกเที่ยวบินในช่วงเวลาที่เกิดพายุสุริยะ รวมถึงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ในดาวเทียมที่โคจรรอบโลก ก็อาจเสียหายได้เช่นกัน แต่สิ่งมีชีวิตบนโลกจะมีชั้นบรรยากาศ และสนามแม่เหล็กโลก ช่วยปกป้องจากรังสีและอนุภาคความเร็วสูงต่างๆ จากอวกาศ

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร