วิวัฒนาการของดาวฤกษ์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 237.7K views



ดาวฤกษ์ในกาแล็กซี เกิดจากการยุบตัวของเนบิวลา เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของเนบิวลาเอง ในขณะที่แก๊สยุบตัว จะเกิดความดันและความร้อนสูง กลายเป็นดาวฤกษ์ก่อนเกิด และกลายเป็นดาวฤกษ์ในที่สุด วิวัฒนาการของดาวฤกษ์ ขึ้นอยู่กับมวลของดาวฤกษ์ก่อนเกิด และจะจบชีวิตลงด้วยการระเบิดที่เรียกว่า ซูเปอร์โนวา ก่อนจะกลายเป็นดาวยักษ์แดง และดาวแคระขาวในที่สุด

ดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อย มีแสงสว่างไม่มาก ใช้เชื้อเพลิงน้อย จึงมีช่วงชีวิตที่ยาว และจบชีวิตด้วยการไม่ระเบิด เช่น ดวงอาทิตย์จะจบชีวิตลงด้วยการเป็นดาวแคระขาว

ดาวฤกษ์ที่มีขนาดใหญ่มีมวลมาก มีแสงสว่างมาก จะใช้เชื้อเพลิงอย่างสิ้นเปลืองในอัตราที่สูงมาก จึงมีช่วงชีวิตที่สั้นกว่า และจบชีวิตด้วยการระเบิดอย่างรุนแรง ที่เรียกว่า ซูเปอร์โนวา

ดาวฤกษ์ที่กำเนิดจากดาวฤกษ์ก่อนเกิด ที่มีมวลขนาดเดียวกัน จะมีการวิวัฒนาการเหมือนกัน เช่น ดาวฤกษ์ที่มีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ จะมีช่วงชีวิต และการเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกับดวงอาทิตย์

ภาพ : shutterstock.com

จุดจบของดาวฤกษ์ ที่มีมวลตั้งต้นมากกว่า 9 เท่าของดวงอาทิตย์คือ การระเบิดที่เรียกว่า ซูเปอร์โนวา แรงโน้มถ่วงจะทำให้ดาวยุบตัวลง กลายเป็นดาวนิวตรอนหรือหลุมดำ การระเบิดนี้สามารถทำให้เกิดธาตุชนิดต่างๆ เช่น ดีบุก ตะกั่ว ยูเรเนียม ทองคำได้ ซึ่งหลังจากการระเบิด ธาตุเหล่านี้จะกระจายออกสู่อวกาศ กลายเป็นส่วนประกอบของเนบิวลารุ่นใหม่

ระบบสุริยะเกิดจากเนบิวลารุ่นใหม่ ซึ่งเกิดจากการระเบิดของดาวยักษ์ในยุคก่อน จึงสามารถค้นพบธาตุดังกล่าวในดวงอาทิตย์ และดาวบริวารของดวงอาทิตย์ รวมถึงโลกที่เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต ซึ่งก็เป็นหนึ่งในดาวบริวารของดวงอาทิตย์เช่นกัน ดังนั้น เนบิวลา ดาวฤกษ์ การระเบิดของดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ โลกของเรา และสิ่งมีชีวิตบนโลก จึงมีความสัมพันธ์กัน

ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่นักดาราศาสตร์นิยมศึกษา เนื่องจากอยู่ใกล้โลกมากที่สุด ดวงอาทิตย์เกิดจากการยุบรวมตัว ทำให้ความดันของเนบิวลาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิภายในเนบิวลาสูงขึ้นด้วย เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นมาก เนบิวลาจะกลายเป็นดวงอาทิตย์ก่อนเกิด เมื่อแรงโน้มถ่วงมากกว่าแรงดัน ดวงอาทิตย์ก่อนเกิดจึงยุบตัวลงต่อ อุณหภูมิสูงมากขึ้น ทำให้เกิดปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ที่แก่น และเป็นแหล่งพลังงานของดวงอาทิตย์ก่อนเกิด ซี่งกลายเป็นดวงอาทิตย์ในท้ายที่สุด

ภาพ : shutterstock.com

ในอนาคตอีกประมาณ 5,000 ล้านปี เมื่อธาตุไฮโดรเจน ที่เป็นเชื้อเพลิงของดวงอาทิตย์น้อยลง ดวงอาทิตย์จะขยายตัวมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 100 เท่าของขนาดปัจจุบัน ทำให้ดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิผิวลดลง สีจึงเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีแดง กลายเป็นดาวฤกษ์สีแดงขนาดใหญ่มาก เรียกว่า ดาวยักษ์แดง หลังจากนั้น ดวงอาทิตย์จะยุบตัวลงกลายเป็นดาวแคระขาว หรือประมาณ 1 ใน 100 เท่าของดวงอาทิตย์ในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโลกดังนี้

 

- ผิวโลกจะร้อนขึ้นมากจนสิ่งมีชีวิตไม่อาจอาศัยอยู่ได้

- น้ำบนผิวโลกอาจจะระเหยไปจนหมด 

- หากดาวยักษ์แดงมีขนาดใหญ่ถึงวงโคจรของโลก จะทำให้โลกถูกทำลาย หรืออาจถูกหลอมละลายไป

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร