นอกจากดาวฤกษ์บนท้องฟ้า จะมีความสว่างมากน้อยแตกต่างกันแล้ว สีของดาวฤกษ์ก็มีความแตกต่างกันด้วย โดยสีของดาวฤกษ์ที่มนุษย์มองเห็น จะมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิผิวของดาวฤกษ์ และสามารถบอกช่วงอายุขัยของดาวฤกษ์ได้อีกด้วย
นักดาราศาสตร์แบ่งชนิดของดาวฤกษ์ตามสี และอุณหภูมิผิว ออกเป็นชนิดสเปกตรัมได้ 7 สเปกตรัม โดยใช้อักษรตัวใหญ่ในภาษาอังกฤษ ได้แก่
ชนิด O เป็นดาวสีน้ำเงิน อุณหภูมิสูงกว่า 30,000 เคลวิน เช่น กลุ่มดาวนายพราน
ชนิด B เป็นดาวสีน้ำเงินแกมขาว อุณหภูมิ 10,000-30,000 เคลวิน เช่น กลุ่มดาวแม่น้ำ
ชนิด A เป็นดาวสีขาว อุณหภูมิ 7,500-10,000 เคลวิน เช่น กลุ่มดาวหงส์
ชนิด F เป็นดาวสีขาวแกมเหลือง อุณหภูมิ 6,000-7,500 เคลวิน เช่น กลุ่มดาวสุนัขเล็ก
ชนิด G เป็นดาวสีเหลือง อุณหภูมิ 4,900-6,000 เคลวิน เช่น ดวงอาทิตย์
ชนิด K เป็นดาวสีส้ม อุณหภูมิ 3,500-4,900 เคลวิน เช่น กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์
ชนิด M เป็นดาวสีแดง อุณหภูมิ 2,000-3,500 เคลวิน เช่น กลุ่มดาวแมงป่อง
นอกจากสีของดาวฤกษ์ จะสัมพันธ์กับอุณหภูมิผิวแล้ว ยังสัมพันธ์กับช่วงอายุขัยของดาวฤกษ์ด้วย โดยดาวฤกษ์ที่มีอายุอยู่ในช่วงต้นของอายุขัย จะมีสีน้ำเงิน และมีอุณหภูมิสูง ส่วนดาวฤกษ์ที่มีอายุอยู่ในช่วงท้ายของอายุขัย จะมีสีแดง และมีอุณหภูมิต่ำ
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร