กาแล็กซีและกาแล็กซีทางช้างเผือก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 78.5K views



กาแล็กซีเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ ที่รวมเอาดาวฤกษ์ ฝุ่น และแก๊ส เกาะกลุ่มยึดกันไว้ด้วยความโน้มถ่วง กาแล็กซีต่างๆ เกิดขึ้นหลังบิกแบงประมาณ 1,000 ล้านปี โดยโลกของเราอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way) ซึ่งมีดาวฤกษ์เป็นองค์ประกอบอยู่มากมาย

ภาพ : shutterstock.com

 

นักดาราศาสตร์แบ่งกาแล็กซีออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. กาแล็กซีปกติ แบ่งเป็น กาแล็กซีรี กาแล็กซีชนิดกังหันหรือก้นหอย กาแล็กซีลูกสะบ้าหรือกาแล็กซีเลนส์

2. กาแล็กซีไม่มีรูปแบบ เช่น กาแล็กซีแมกเจลแลนใหญ่

กาแล็กซีทางช้างเผือก เป็นกาแล็กซีที่พวกเราอาศัยอยู่ แต่เราไม่สามารถมองเห็นได้ว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกมีรูปร่างเป็นอย่างไร สิ่งที่เราเห็นได้คือแถบขาวจางๆ ที่เหยียดตัวพาดผ่านท้องฟ้ายามค่ำคืน เป็นที่มาของชื่อ “Milky Way” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ทางน้ำนม”

แถบทางช้างเผือก ประกอบไปด้วยดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างไกลนับพันล้านดวง แต่แสงจากดาวฤกษ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ ถูกลดทอนด้วยฝุ่นแก๊ส ที่อยู่ในระนาบของกาแล็กซี

ภาพ : shutterstock.com

 

ผลจากการสังเกตทำให้ทราบว่า กาแล็กซีทางช้างเผือกเป็นกาแล็กซีแบบกังหันมีคาน ที่มีดาวฤกษ์อยู่อย่างน้อย 2 แสนล้านดวง มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 100,000 ปีแสง และมีความหนาเฉลี่ยประมาณ 1,000 ปีแสง ดวงอาทิตย์จะอยู่ในบริเวณค่อนข้างมืดมิด (มีดาวฤกษ์ค่อนข้างน้อย) ที่อยู่ห่างออกไปจากใจกลางกาแล็กซีไปราว 2/3 ของขนาดรัศมีกาแล็กซี 

เมื่อเรามองดูทางช้างเผือก ซึ่งพาดเป็นทางยาวบนฟากฟ้า หมายถึงเรากำลังมองดูกาแล็กซีทางช้างเผือกทางด้านข้าง ผ่านไปยังส่วนที่เป็นแขนของกาแล็กซีทางช้างเผือก หรือผ่านไปยังบริเวณใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือก ระบบสุริยะอยู่ห่างจากศูนย์กลางของกาแล็กซีประมาณ 30,000 ปีแสง

ดวงอาทิตย์โคจรรอบใจกลางทางช้างเผือก เช่นเดียวกับโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ต้องใช้เวลาถึง 225 ล้านปีในการโคจรครบรอบ เนื่องจากวงโคจรของดวงอาทิตย์รอบใจกลางทางช้างเผือกมีระยะทางที่ยาวมาก 

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร