การวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสี
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 6.3K views



การวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสี สามารถวัดได้โดยพิจารณาการเกิดกัมมันตภาพรังสีโดยตรง หรือพิจารณาผลของกัมมันตภาพรังสี เช่น กัมมันตภาพรังสีที่ทำให้อากาศแตกตัว รังสีที่ถูกดูดกลืน และรังสีสมมูล โดยเครื่องวัดกัมมันตภาพรังสี ได้แก่ เครื่องไกเกอร์-มูลเลอร์ (Geiger-Muller counter)

การวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสี (Radioactivity) คือการวัดความเปลี่ยนแปลงทางนิวเคลียร์ที่ทำให้เกิดการแผ่รังสี หรือการปลดปล่อยอนุภาคที่มีพลังงานออกจากนิวเคลียส โดยวัดได้จากรังสีที่เกิดขึ้นในขณะนั้น มีหน่วยเป็นเบคเคอเรล (becquerel ย่อเป็น Bq)

การวัดปริมาณรังสีที่ทำให้อากาศแตกตัว (Exposure) คือการวัดปริมาณรังสีจากการแตกตัวของอากาศเป็นไอออน มีหน่วยเป็นคูลอมบ์ต่อกิโลกรัม (coulomb per kilogram ย่อเป็น C/kg)

การวัดปริมาณรังสีที่ถูกดูดกลืน (Absorbed dose) คือ การวัดปริมาณรังสีจากพลังงานของรังสีที่วัตถุดูดกลืนไว้ เมื่อได้รับรังสีนั้น มีหน่วยเป็นเกรย์ (gray ย่อเป็น Gy) ตัวอย่างการดูดกลืนรังสีของวัตถุเช่น การที่แก้วหรือพลาสติกเปลี่ยนสีเมื่อนำไปฉายรังสี เป็นเพราะเนื้อแก้วดูดกลืนพลังงานของรังสีเข้าไว้

การวัดปริมาณรังสีสมมูล (Dose Equivalent) คือ การวัดปริมาณรังสีจากผลกระทบต่อเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตที่ได้รับรังสี มีหน่วยเป็นซีเวิร์ต (sievert ย่อเป็น Sv) ซึ่งผลกระทบเชิงชีววิทยาสัมพันธ์จะต่างกันออกไป เมื่อเนื้อเยื่อได้รับชนิดของกัมมันตภาพรังสีที่ต่างกัน

 

ผลกระทบต่อร่างกายเมื่อได้รับรังสี จะขึ้นอยู่กับปริมาณ และระยะเวลาที่ได้รับรังสี ดังนี้

ภาพ : shutterstock.com

 

1. ปริมาณรังสี    2.2 มิลลิซีเวิร์ต (millisievert หรือ mSv) เป็นระดับรังสีปกติในธรรมชาติ ที่มนุษย์แต่ละคนได้รับใน 1 ปี
2. ปริมาณรังสี    5 มิลลิซีเวิร์ต เกณฑ์สูงสุดที่อนุญาตให้สาธารณชนได้รับใน 1 ปี
3. ปริมาณรังสี    50 มิลลิซีเวิร์ต    เกณฑ์สูงสุดที่อนุญาตให้ผู้ปฏิบัติงานทางรังสีได้รับใน 1 ปี
4. ปริมาณรังสี    250 มิลลิซีเวิร์ต ยังไม่ปรากฏอาการผิดปกติใดๆ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
5. ปริมาณรังสี    500 มิลลิซีเวิร์ต เม็ดเลือดขาวลดลงเล็กน้อย
6. ปริมาณรังสี    1,000 มิลลิซีเวิร์ต มีอาการคลื่นเหียนและอ่อนเพลีย มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งในภายหลัง แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต
7. ปริมาณรังสี    3,000 มิลลิซีเวิร์ต มีอาหารผมร่วง ตัวซีด คอแห้ง มีไข้ อาจเสียชีวิตภายใน 3-6 สัปดาห์
8. ปริมาณรังสี    6,000    มิลลิซีเวิร์ต มีอาการท้องร่วงภายใน 1-2 ชั่วโมง เม็ดเลือดลดลงอย่าง รวดเร็ว อักเสบบริเวณปาก และลำคออย่างรุนแรง เท่ากับเจ้าหน้าที่ที่โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เชอร์โนบิลได้รับ ซึ่งเสียชีวิตภายใน 1 เดือน 
9. ปริมาณรังสี    10,000 มิลลิซีเวิร์ต ทำลายอวัยวะภายใน เลือดออกภายใน มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในเวลาไม่กี่วัน หรือประมาณ 2 สัปดาห์

เราไม่สามารถสัมผัส หรือมองเห็นกัมมันตภาพรังสีได้ แต่สามารถตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือวัดที่ภายในบรรจุตัวกลาง ซึ่งสามารถแตกตัวเป็นไอออนได้ เมื่ออนุภาคและรังสีจากการเกิดกัมมันตภาพรังสีตกกระทบ แล้วแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้า ทำให้สามารถวัดกัมมันตภาพรังสีได้ โดยเครื่องวัดกัมมันตรังสีที่นิยมใช้กัน ได้แก่ เครื่องวัดกัมมันตรังสีแบบไกเกอร์-มูลเลอร์ เนื่องจากสามารถตรวจวัดได้ทั้งอนุภาคบีตา อนุภาคแอลฟา และรังสีแกมมา

 

เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร