การเคลื่อนที่ของเสียง เป็นการถ่ายโอนพลังงานจากการสั่นของตัวกำเนิดเสียงผ่านตัวกลาง เช่น อากาศ มากระทบกับเยื่อแก้วหู ซึ่งการสั่นของเยื่อแก้วหูเพียงเล็กน้อย ก็มีผลต่อประสาทการได้ยินของคน จากการศึกษาพบว่า หูของคนไวต่อการรับรู้เสียงที่มีความถี่สูง มากกว่าเสียงที่มีความถี่ต่ำ เมื่อเสียงนั้นมีระดับความเข้มเสียงเท่ากัน โครงสร้างของหู ได้แก่ หูส่วนนอก ใบหู รูหู หูส่วนกลาง หูส่วนใน คอเคลีย กระดูกค้อน กระดูกทั่ง กระดูกโกลน เป็นต้น
ส่วนประกอบของหู แบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่
1. หูส่วนนอก ประกอบด้วยใบหู และรูหู โดยรูหูอยู่ลึกเข้าไปในกระโหลกศีรษะ ไปสิ้นสุดที่เยื่อแก้วหู
2. หูส่วนกลาง เริ่มจากเยื่อแก้วหู ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อแผ่นบางๆ ปิดช่องหู และเป็นส่วนแบ่งระหว่างหูส่วนนอกกับหูส่วนกลาง ถัดจากเยื่อแก้วหูเข้าไป มีลักษณะเป็นโพรง ภายในโพรงมีกระดูก 3 ชิ้น เรียงชิดติดกันคือ กระดูกค้อน กระดูกทั่ง และกระดูกโกลน
ภายในหูส่วนกลางมีช่องเล็กๆ ที่ติดต่อกับหลอมลม ทำหน้าที่ปรับความดันอากาศทั้ง 2 ด้านของแก้วหูให้เท่ากันตลอดเวลา ถ้าความดันทั้ง 2 ด้านของแก้วหูไม่เท่ากัน จะทำให้เกิดอาการหูอื้อ หรือปวดหู เมื่อขึ้นไปบนที่สูงมากๆ เช่นภูเขา หรือเครื่องบิน หรือเมื่อขึ้นและลงลิฟท์ในตึกสูงๆ หรือเมื่อดำน้ำลึก
3. หูส่วนใน ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนรับเสียง และ ส่วนทรงตัว ส่วนรับเสียงมีลักษณะเป็นท่อกลวงขดเป็นรูปคล้ายหอยโข่งเรียกว่า คอเคลีย ภายในท่อนี้มีเซลล์ขนอยู่เป็นจำนวนมาก ทำหน้าที่รับรู้การสั่นของคลื่นเสียง ที่ผ่านมาจากหูส่วนกลาง พร้อมกับส่งสัญญาณการรับรู้ผ่านโสตประสาทไปยังสมอง สมองจะทำหน้าที่แปลสัญญาณที่ได้รับ ทำให้เรารับรู้เกี่ยวกับเสียงที่ได้ยิน
ส่วนทรงตัวของหูส่วนใน มีลักษณะเป็นหลอดกึ่งวงกลม 3 อัน วางตั้งฉากกันเป็น 3 มิติ ที่ปลายหลอดมีเซลล์รับความรู้สึก ที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของศีรษะอยู่ภายใน ช่วยทำให้เราสามารถควบคุม หรือปรับสภาพการทรงตัวได้
การได้ยินยังขึ้นอยู่กับความถี่ของเสียงอีกด้วย โดยมนุษย์สามารถได้ยินเสียงอยู่ในช่วง 20 ถึง 20,000 เฮิรตซ์
- เสียงที่มีความถี่อยู่ในช่วงที่ต่ำกว่า 20 เฮิรตซ์ลงไป เรียกว่า คลื่นใต้เสียง หรือคลื่นอินฟราโซนิค
- เสียงที่มีความถี่อยู่ในช่วงที่สูงกว่า 20,000 เฮิรตซ์ขึ้นไป เรียกว่า คลื่นเหนือเสียง หรือคลื่นอัลตราโซนิก
- เสียงทุ้ม เป็นเสียงที่มีระดับเสียงต่ำหรือความถี่น้อย
- เสียงแหลม เป็นเสียงที่มีระดับเสียงสูงหรือความถี่มาก
เรียบเรียงโดย : ปิตุพร พิมพาเพชร